สุจิตต์ วงษ์เทศ :กองทัพอังวะไม่ได้เอาไฟเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา เพราะพบพระเศียรมหึมาอยู่ในพช.พระนคร

พระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ไทยบอกว่าถูกไฟคลอกเผาทำลายย่อยยับ เมื่อกรุงแตก พ.ศ. 2310 (250 ปีมาแล้ว)

แต่พบหลักฐานใหม่ว่ากองทัพอังวะ ไม่ได้เอาไฟเผาลอกทอง เพราะเศียรพระศรีสรรเพชญ์ขนาดมหึมาตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หลักฐานแท้จริงอย่างไร? ทางการไม่เคยแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่หนังสือพระศรีสรรเพชญ์ โดย ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เล่มนี้ มีเปิดเผยแบ่งปันมากที่สุดกว่าเล่มอื่นใดในปฐพีเท่าที่ผมเคยอ่าน

อังวะเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์จริงหรือ?

หลักฐานร่วมสมัยไม่บอกว่าเมื่อกองทัพกรุงอังวะเข้าพระนครได้แล้วกระทำอะไรกับพระศรีสรรเพชญ์?

Advertisement

ส่วนที่กล่าวถึงพระศรีสรรเพชญ์ชำรุดเพราะถูกไฟเผาเป็นเอกสารเขียนสมัยหลังมากๆ จากเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2310 จึงเป็นปัญหาว่าพระศรีสรรเพชญ์ชำรุดมากน้อยเพียงใด

ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ไม่เชื่อว่าจะมีการเผาลอกทองที่หุ้มพระศรีสรรเพชญ์จนพระพุทธรูปชำรุด เพราะ

  1. ต้องใช้ความร้อนมากกว่า 1,064 0C เป็นอุณหภูมิที่สูงมากเกินกว่ามนุษย์จะทนได้ เพื่อเผาหลอมลอกทองจากพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดหุ้มทอง มีโลหะสำคัญ ประกอบด้วยดีบุกผสมทองแดง และทองคำ

ความร้อนขนาดนี้จะต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากเพียงใด กองทัพอังวะสามารถควบคุมความร้อนได้มากน้อยเพียงใดที่จะไม่ทำให้ทองแดงหลอมละลายออกมาปนกับทอง

Advertisement
  1. ถ้าเผาจนองค์พระชำรุด เหตุใดผนังพระวิหารหลวงไม่พังทลาย หรือต้องมีสภาพเหมือนผนังด้านในเตาเผาภาชนะที่ผ่านความร้อนสูงมาแล้ว

จากในรายงานการขุดค้นทางโบราณคดี (ของกรมศิลปากร) ที่ฐานชุกชีพระศรีสรรเพชญ์ เหตุใดจึงไม่พบชั้นดินที่ถูกเผาบริเวณฐานชุกชี ซึ่งอาจต้องใช้ความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก

 

ไม่ได้เผาลอกทอง แต่เผาสัญลักษณ์

ดร. รุ่งโรจน์เชื่อว่าพระศรีสรรเพชญ์อย่างไรก็ต้องถูกเผา ซึ่งไม่ได้เผาเพื่อลอกทอง แต่เผาทำลายสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา หรือนัยหนึ่งคือทำลายขวัญของกรุงศรีอยุธยา แล้วอธิบายต่อไปอีกว่า

“กองทัพกรุงอังวะคงจะเผาวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทำให้องค์พระศรีสรรเพชญ์เกิดความชำรุด ซึ่งเมื่อเครื่องบนหลังคาวิหารหลวงทลายลงมา ย่อมที่จะกระทบกระเทือนกับองค์พระพุทธรูป 

นอกจากนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้อธิบายว่าภายหลังผนังพระวิหารพังทับองค์พระก็ชำรุดแตกแยกร้าวราน ผนังที่ท่านเจ้าคุณว่านั้นน่าจะหมายถึงผนังด้านหลังขององค์พระพุทธรูปนี้เอง

จากหลักฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่จะต้องมีเหล็กยึดพระปฤษฎางค์กับผนังอาคารเสมอ ถ้าสมมติว่าผนังพระวิหารหลวงได้ล้มทลายไปทางด้านหลัง ก็จะดึงให้องค์พระพุทธรูปล้มไปทางด้านหลังด้วย ส่วนพระเศียรก็มีสิทธิ์ที่จะหลุดตกลงไปในช่องว่างหลังท้ายจระนำได้”

สงครามคราวเสียกรุง ปี พ.ศ. 2310 เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่ทำให้ราชอาณาจักรศรีอยุธยาล่มสลาย และสร้างความเสียหายให้แก่พระศรีสรรเพชญ์เป็นอย่างมาก

 

เหตุใดไม่ชะลอพระศรีสรรเพชญ์กลับไปอังวะ

สาเหตุที่กองทัพอังวะไม่ชะลอพระศรีสรรเพชญ์ไปกรุงอังวะ ดร. รุ่งโรจน์บอกว่าเป็นเพราะโครงสร้างของพระวรกายพระศรีสรรเพชญ์ที่มีแกนอิฐอยู่ด้านในจึงยากต่อการเคลื่อนย้าย

มีทางเลือกเดียวคือต้องทำให้พระศรีสรรเพชญ์ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของกรุงศรีอยุธยาชำรุดเสียหาย

ส่วนพระพุทธรูปบางองค์ซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่าพระศรีสรรเพชญ์ กองทัพกรุงอังวะก็ปล่อยชำรุดปรักหักพังไปตามสภาพ เช่น พระมงคลบพิตรและพระโลกนาถ เป็นต้น

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image