ลุ้นปลดล็อก สุญญากาศ ม.เกษตรฯ 2 ปีตั้งอธิการฯไม่ได้

2 ปีกว่ามาแล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อยู่ในสภาวะสุญญากาศ ตำแหน่งบริหารทั้งอธิการบดี รองอธิการบดี อยู่ในสถานะ “รักษาการ”

ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเสียโอกาสในหลายด้าน โดยเฉพาะโอกาสทางวิชาการ

โดยปกติเวลาไปทำความตกลง หรือลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันไหน หากสถาบันนั้นรู้ว่าผู้บริหารไม่ใช่ตัวจริง ความร่วมมือนั้นจะถูกเลื่อนออกไป

ถึงขนาดเคยมีกรณีมหาวิทยาลัยจะถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้เจ้าชายของประเทศพัฒนาแล้วประเทศหนึ่ง แต่เมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีสถานะเพียงรักษาการŽ

Advertisement

ทำให้เจ้าชายองค์นั้นเสด็จมาเยือนไทย แต่ไม่เสด็จมารับปริญญาบัตร

ขอรอไปจนกว่ามหาวิทยาลัยแต่งตั้งอธิการบดีให้ได้ก่อน แล้วจะเสด็จมารับปริญญา

ดังนั้น ในสายตาของต่างชาติ ถือว่าเป็นเรื่อง อ่อนไหวŽ กระทบต่อความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง

Advertisement

นอกจากนี้ ตำแหน่งรักษาการอธิการบดีสามารถทำได้เพียงงาน รูทีนŽ เซ็นแฟ้ม ไม่มีงานนโยบาย อย่างตั้งวิทยาเขต ตั้งคณะใหม่

ภารกิจการพัฒนามหาวิทยาลัยต้องรอ อธิการบดีŽ คนใหม่หมด

การบริหารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงคล้ายกับอยู่ในห้วงสุญญากาศŽ

ย้อนไปดูสภาวะสุญญากาศการบริหารนี้ มูลเหตุมาจากการสรรหาอธิการบดีเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2557 ก่อนนายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ ครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี 5 เดือน ได้จัดให้สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ตามขั้นตอนเหมือนที่ผ่านมา จนสภา มก.มีมติให้นายบดินทร์ รัศมีเทศ เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี และได้มีหนังสือแจ้งให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อนำชื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

แต่ต่อมา สกอ.มีหนังสือขอยับยั้งการเสนอโปรดเกล้าฯไปยัง มก.อ้างว่ามีผู้ร้องเรียนเป็นหนังสือ แต่ไม่ลงชื่อมายัง กกอ.ต้องยับยั้งไว้ก่อน

จนเป็นต้นเหตุให้นายบดินทร์ฟ้องร้องคดี สกอ.ทั้งศาลปกครองและศาลอาญา

การแต่งตั้งอธิการบดีจึงค้างเติ่งอยู่!!!

ต่อมา เมื่อนายนิวัฒ เรืองพานิช นายกสภา มก.พ้นวาระ มีนายวิโรจ อิ่มพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมาดำรงตำแหน่งนายกสภาแทน ได้มีมติให้ยกเลิกมติของสภา มก.ที่ลงมติให้นายบดินทร์ เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี

เป็นเหตุให้นายบดินทร์ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติดังกล่าวอีก

ผลจากมติŽดังกล่าว ก่อเกิดความแตกแยกใน มก.ขึ้น

มีคำถามอื้ออึงว่า มติตั้งนายบดินทร์ไม่ถูกต้องอย่างไร? ทำไมถึงยกเลิก?

ส่งผลให้บรรยากาศของข้าราชการ พนักงาน ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอีก เมื่อมีการแก้ไขระเบียบมหาวิทยาลัยต่างๆ อันเป็นลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา โดยเฉพาะกรณีปรับเปลี่ยนข้อบังคับมหาวิทยาลัยในการสรรหานายกสภา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีการวิจารณ์กันว่าเพื่อเปิดโอกาสให้คนขาดคุณสมบัติกลับมามีคุณสมบัติในการเข้ารับการสรรหาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย

การได้มาของนายกสภา มก.-กรรมการสภาผู้ทรงวุฒิ ที่เคยปฏิบัติกัน จะได้มาจากการเสนอชื่อจากคณะ/สถาบัน แล้วนำมาลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้บริหาร ประกอบด้วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้มีตำแหน่งเทียบเท่าเกือบ 56 คน จะเป็นผู้พิจารณาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกสภา-กรรมการสภาผู้ทรงวุฒิ

เมื่อได้รายชื่อแล้วให้มหาวิทยาลัยดำเนินการส่งให้ สกอ.ดำเนินการเพื่อทูลเกล้าฯขอแต่งตั้งต่อไป

แต่นายวิโรจซึ่งเป็นนายกสภาขณะนั้น ได้เปลี่ยนระบบใหม่

ระบบนี้สภามหาวิทยาลัยที่มีนายวิโรจเป็นนายก แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภา มก.ขึ้นมา 1 ชุด แล้วทำหน้าที่สรรหานายกสภามหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านที่ประชุมผู้บริหารเหมือนเช่นที่ผ่านมา

จากนั้นนำชื่อของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ส่งต่อ สกอ.เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

การกระทำดังกล่าวทำให้หลายคนเกิดความเคลือบแคลง

ยิ่งเมื่อมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสแกนรายนามคณะกรรมการสรรหานายกสภา มก. พบว่าล้วนเป็นหน้าเดิมที่มีรายนามอยู่ในกรรมการสภา มก.ชุดปัจจุบันที่มีนายวิโรจนั่งเป็นนายกสภา ยิ่งเกิดคำถามตามมา

กรรมการสภาชุดเก่ามาเลือกกรรมการสภาชุดใหม่?

ทางด้านนายวิโรจก็โดนเจาะข้อมูล มีการสืบเสาะเรื่องร้องเรียนสมัยนายวิโรจนั่งเป็นอธิการบดี มก. เกี่ยวกับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2549 ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่

เพราะงานครั้งนั้น มีบางกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลผิด และมีมติให้ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง แล้วส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการ

ดังนั้น หากนายวิโรจเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภาต่ออีก อาจเกิดแรงต้าน และมีการฟ้องร้องกันไม่จบสิ้น

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เคยกำกับดูแล กกอ.ผู้ซึ่งเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯสรรหาอธิการบดี มก.ใหม่จึงกลายเป็นตัวเลือก

แต่เมื่อเสนอชื่อนายกฤษณพงศ์ ทางกระทรวงศึกษาฯมีคำถามตามมา

ทำไมกรรมการสรรหารายชื่อถึงไม่ให้ที่ประชุมสภา มก. รับรองรายชื่อผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกสภา

เรื่องนี้มีการชี้แจงกลับไปว่าทำตามระเบียบ (ใหม่) ไม่ต้องนำเข้าสภา มก.

ส่งผลให้นายวิโรจที่หมดวาระรักษาการนายกสภาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ได้นั่งรักษาการเก้าอี้นี้ต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางออกไหนจะแก้วิกฤตปัญหา มก.ได้?

มีการมองกันว่าน่าจะใช้ ม.44 ปลดเดดล็อกŽนี้ โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการยอมรับ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามาเป็นอธิการบดี และนายกสภาน่าจะทำให้เกิดเอกภาพ และทำให้ มก.กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

แต่บางคนแย้งว่าไม่เหมาะสม เพราะ มก.เป็นองค์กรใหญ่ มีถึง 4 วิทยาเขต นิสิต 65,000 คน บุคลากร 10,000 คน

หากใช้ มาตรา 44 ยุ่งแน่!

ทางออกที่ดีคือให้ สกอ.นำชื่อนายกฤษณพงศ์ขึ้นทูลเกล้าฯ

ล่าสุด มีข่าวว่า สกอ.ไฟเขียวแล้ว หลัง มก.ชี้แจงข้อร้องเรียนต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจ

เลขาธิการ กกอ.จะเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ นำชื่อนายกฤษณพงศ์เข้า ครม.ให้พิจารณา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯตามกระบวนการ

หลังจากนั้น จะได้สรรหาอธิการบดีกันใหม่ โดยมีนายบดินทร์ร่วมลงสมัครด้วย เพื่อให้ มก.มีอธิการบดีคนใหม่ขึ้นมาบริหารงานได้อย่างเต็มตัว ไม่ใช่ทำได้แค่งาน
ธุรการ

หนทางปลดล็อก มก. ยังคงต้องรอ เพื่อให้ทุกอย่างหลุดพ้นสุญญากาศŽ ที่เกิดขึ้นใน มก. มายาวนานกว่า 2 ปี

การปลดล็อกŽ จะทำให้ มก.พ้นสภาพ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกักŽ ได้เสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image