‘กรมสรรพาวุธ’ส่งมอบ’ราชรถปืนใหญ่’ใช้ต้นแบบสมัยร.6และร.8 ‘กรมศิลป์’รับไม้ต่อ แกะสลักพญานาคส่งเสด็จสู่สวรรค์

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่กรมสรรพาวุธทหารบก พลโทอาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เป็นประธานในพิธีลงนามส่งมอบราชรถปืนใหญ่ เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพในริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช แก่สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้รับมอบ โดยพลโทอาวุธ กล่าวว่า หลังจากที่กรมสรรพาวุธทหารบก ได้รับมอบหมายให้จัดสร้างราชรถปืนใหญ่ ได้ทำการศึกษารูปแบบตามงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 โดยกรมสรรพาวุธฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งข้อมูลจากหอจดหมายเหตุรวมถึงภาพถ่าย วิดิทัศน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อมูลลักษณะการทำงานและส่วนประกอบของราชรถปืนใหญ่ที่ใช้ในพระราชถวายพระเพลิงพระบรมศพ และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ประกอบการจัดสร้าง โดยโครงสร้างราชรถปืนใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง และราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า มีคานบังคับสั้น เชือกชุดชัก 2 เส้น สำหรับการสร้างราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง จากการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์พบว่า ราชรถปืนใหญ่ คือ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 51 (ป.51) ดังนั้นในการจัดสร้างจึงใช้โครงสร้างของป. ภูเขา แบบ 51 เป็นโครงสร้างหลัก โดยได้นำป.ภูเขา แบบ 51 ที่ทางกองทัพบกได้เก็บรักษาไว้มาดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างด้วยวิธีการตรวจสอบทางวิศวกรรม นำมาสร้างและบูรณะเพื่อให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักพระบรมโกศได้อย่างเหมาะสม

เจ้ากรมสรรพาวุธฯ กล่าวต่อว่า ส่วนราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า กรมสรรพาวุธ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อดำเนินการเปรียบเทียบขนาดมิติต่าง ๆ ที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จากนั้นนำมาวิเคราะห์และออกแบบราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้าให้มีลักษณะใกล้เคียงกับราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้าในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้งที่ผ่านมาให้มากที่สุด

Advertisement

“ขณะนี้กรมสรรพาวุธฯได้ดำเนินการการจัดสร้างในส่วนของโครงสร้างแล้วเสร็จ ตามกรอบเวลาที่กำหนด
การจัดสร้างครั้งนี้ดำเนินการทั้งหมด 3 องค์ ประกอบด้วย ราชรถปืนใหญ่องค์จริงหมายเลข 21863 ราชรถปืนใหญ่องค์สำรอง และราชรถปืนใหญ่องค์ฝึกซ้อม ซึ่งครั้งนี้ได้ส่งมอบราชรถองค์จริงและสำรองให้กับกรมศิลปากรไปดำเนินการจัดทำงานด้านศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ประดับลวดลายองค์ราชรถต่อไป” พลโทอาวุธกล่าว

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากนี้กรมศิลปากร จะอัญเชิญไปยังโรงราชรถปืนใหญ่ทั้ง 2 องค์ ไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อดำเนินการด้านศิลปกรรมที่ศึกษามาจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 มาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ราชรถปืนใหญ่มีความสวยงามสมพรเกียรติ กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จช่วงต้นเดือนกันยายนเพื่อเตรียมการสำหรับการซักซ้อมที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม

Advertisement

นายชนะโยธิน อุปลักษณ์ นายช่างศิลปกรรมกลุ่มงานช่างเขียนและช่างลายรดน้ำ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบด้านศิลปกรรมประดับลวดลายราชรถปืนใหญ่ กล่าวว่า ศิลปกรรมที่จะมาประดับโครงราชรถในส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ ราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง แบ่งเป็น ตรงส่วนฐานจะใช้ลวดลายบัวปากฐาน และขาสิงห์ และส่วนแคร่ งอนด้านหน้าจะแกะเป็นหัวพญานาค 6 องค์ และหางที่ด้านหลัง

“จากนี้จะเริ่มสู่การแกะสลักลายกลีบบัว ขาสิงห์ซึ่งจะดำเนินการที่โรงราชรถ พิพิพธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อแกะสลักเรียบร้อยก็จะมีการลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก ทั้งนี้ ในส่วนของขาสิงห์นั้นจะมีการปิดทองทึบ ซึ่งแสดงถึงความสูงส่ในฐานานุศักดิ์ เช่นเดียวกับฐานสิงห์ใช้ระดับพระมหากษัตริย์ ส่วนการใช้บัวมารองรับ จะปรากฏในความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ซึ่งเปรียบพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระโพธิสัตว์ ขณะที่ การแกะแคร่เป็นหัวพญานาค เป็นความเชื่อตามคติพราหมณ์และคติพุทธ โดยไทยเปรียบพระมหากษัตริย์เสมือนสมมุติเทพ ในการเคลื่อนราชรถอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ก็จะมีนาครองรับและเคลื่อนเหมือนพระองค์ผ่านสู่ความเป็นมนุษย์กลับขึ้นสู่สรรค์ที่พระเมรุมาศ”นายชนะโยธิน กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image