ม.ราชภัฏให้3รมว.ศธ.สอบตก ซัดบริหาร’ปะผุ’ ใช้’รมต.ศึกษา’เปลืองไม่ต่างรัฐบาลเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา กล่าวถึงผลงาน 3 ปี ของ 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ประเมินให้ตกและคาบเส้น ว่า ศธ.เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ใช้รัฐมนตรีมากที่สุด ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มากที่สุด แต่ผลงานสอบตก 3 ปี คสช.ใช้รัฐมนตรีว่าการศธ. 3 คนไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทิศทางการบริหารโดยภาพรวมเป็นการวางระบบบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ ผลงานการบริหารเข้าลักษณะปะผุ หรือแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่ามาวางหรือสร้างระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน คสช.มีผลงานด้านการปฏิรูปโครงสร้างโดยอาศัยมาตรา 44 ที่โดดเด่นคือการปฏิรูปส่วนภูมิภาค ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ถือว่าสอบตกเพราะเพิ่มเวลาเรียนมากกว่า การคัดเลือกครูมีความพยายามที่จะหาทางเลือกใหม่ เช่น ครูพัฒนาท้องถิ่น หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีวุฒิครูสอบบรรจุครูได้ ซึ่งไปสร้างปัญหาอื่นตามมา การพัฒนาครูมีระบบคูปอง แต่ระบบที่รองรับยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น หลักสูตรที่รองรับการอบรม ทำแบบรีบเร่งเพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐมนตรีว่าการศธ.เท่านั้น ที่น่าชื่นชมคือการพัฒนาระบบวิทยฐานะใหม่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะตอบโจทย์ได้หรือไม่ โดยสรุปผลงานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังไปไม่ถึงผู้เรียน การที่คสช.ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 มาวางระบบออกแบบการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ จะสร้างปัญหาในอนาคตมากกว่าเดิม ซึ่งน่าเป็นห่วง

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ด้านอาชีวศึกษา รัฐบาลให้น้ำหนักการเรียนอาชีวศึกษาไว้สูงมาก ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ภายในยุค คสช. สิ่งที่ควรทำคือ สร้างระบบสหกิจร่วมกับสถานประกอบการให้มากขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจ ค่านิยมให้คนเรียนอาชีวะ ส่วนการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย(กศน.)ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาในปัจจุบัน ถือว่าสอบตก ผู้บริหารระดับสูงในศธ.มาจากกศน.หลายคนแต่กลับไม่มีผลงานโดดเด่น ด้านการศึกษาเอกชน ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน มีเพียงการรวมอาชีวะเอกชนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ถือว่าอยู่ถูกที่ถูกทาง แต่ยังไม่ปรากฏผลงาน ส่วนด้านอุดมศึกษา มีผลงานเป็นรูปธรรมเฉพาะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปบริหารจัดการมหาวิทยาลัยบางแห่ง ทำได้แค่ระงับยับยั้งปัญหาชั่วคราว ระยะยาวยังแก้ไม่ได้ มีปัญหาคุณภาพมหาวิทยาลัย ปัญหาธรรมาภิบาล ฯลฯ ยังไม่เห็นการวางระบบแก้ไขปัญหา ภาพรวมถ้าคิดเป็นคะแนน ให้ 5 คะแนนคาบเส้น ให้คะแนนจิตพิสัยความตั้งใจทำงาน แต่ถ้ามองเฉพาะผลงานจริงๆ สอบตก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image