เปลี่ยนการเรียนรู้..ใน ร.ร.สอนศาสนา ชายแดนใต้

“ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” โครงการเพื่อสังคมของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด นำเสนอการปรับใช้โมเดลห้องเรียนแห่งอนาคตในบริบทใหม่ ด้วยการนำนวัตกรรม และกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เสริมแรงครู ในโรงเรียนศาสนศึกษา โรงเรียนสอนศาสนา ใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ให้ปรับห้องเรียน เปลี่ยนวิธีการสอนสู่การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กมัธยมต้น สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่น เชื่อมตัวเองกับชุมชน พัฒนาทักษะใหม่เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

ห้องเรียนที่เด็กนั่งล้อมวงป็นกลุ่ม หันหน้าเข้าทำงานด้วยกัน ไม่มีครูยืนอยู่หน้ากระดาน แต่เดินไปรอบๆ ห้องเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่แปลกใหม่ในโรงเรียนศาสนศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาใน อ.สายบุรี แต่ยังรวมถึงการที่นักเรียนในชุมนุมต้องผ่านกระบวนการร่วมกันตั้งโจทย์ปัญหา หาหัวข้อการเรียนรู้ เตรียมวางแผนลงไปสำรวจชุมชน ฝึกใช้อุปกรณ์กล้อง แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เพื่อเก็บข้อมูล เรียนรู้เทคนิคการสัมภาษณ์ ถ่ายภาพ ตัดต่อ เพื่อสื่อสารสิ่งที่ตนค้นคว้ามาแบ่งปันกับเพื่อนในโรงเรียน และคนในชุมชน

“เด็กเราเรียนหนัก เพราะต้องเรียนทั้งหลักสูตรสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคำสอนศาสนาอิสลาม สัปดาห์ละ 50 คาบ และมีเพียง 1 คาบเท่านั้น ที่เป็นชั่วโมงกิจกรรมชุมนุม หลักสูตรแน่น ครูส่วนมากเน้นสอนแบบท่องจำเพื่อสอบวัดผลได้ เรารับรู้ว่าตรงนี้เป็นปัญหา เด็กจะไม่ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นกับชีวิต เราพยายามมองหารูปแบบการสอนใหม่ๆ มาหลายปี ไปอบรมได้ทฤษฎี แต่ไม่เห็นทางว่าจะปฏิบัติกันอย่างไร จนกระทั่งโรงเรียนเราได้เข้าร่วมโครงการนี้” นางอัสมะ หะยีมอหะมะสอ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา เล่าถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการ

Advertisement

โรงเรียนศาสนศึกษา เป็นโรงเรียนเอกชนไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นในรูปแบบมูลนิธิ เก็บค่าเล่าเรียนภาคละ 100 บาท มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรุ่นเก่าเพียง 40 เครื่อง สำหรับนักเรียน 1,000 คน โรงเรียนได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในปีการศึกษา 2559 ที่นี่ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ได้ถูกจัดสร้างขึ้น กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ถูกถ่ายทอดสู่คุณครูที่ปรึกษาโครงการฯ ผ่านการอบรม และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา อุปกรณ์เทคโนโลยี และกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำโครงงานของนักเรียนในชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณครู นักเรียน หรือแม้แต่ผู้บริหารของโรงเรียนต้องปรับตัวไม่น้อย

ครูสุนันต์ สะซีลอ เล่าว่า ที่ผ่านมา การเรียนการสอนส่วนใหญ่ในโรงเรียนเป็นรูปแบบการบรรยาย เด็กๆ แทบไม่ได้พรีเซนต์หน้าชั้นเรียน ส่วนมากจะจดจากกระดานลงสมุด ทั้งเด็ก และครูไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบใหม่นี้ ครูต้องปรับตัวเป็นโค้ช ซึ่งเหนื่อยมาก เพราะต้องเตือนตัวเองเสมอไม่ให้สอน ส่วนเด็กต้องปรับตัวมาก เพราะไม่คุ้นกับการระดมความคิด แรกๆ เด็กไม่ตอบคำถามเลย เพราะกลัวผิด แต่หลังจากผ่านกระบวนการ Active Learning จะเห็นว่าเด็กๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

Advertisement

นักเรียนชั้นมัธยมต้นในชุมนุมเริ่มทำโครงงาน เพื่อเรียนรู้เรื่องที่เขาสนใจในชุมชน อาทิ ปัญหาของแม่น้ำสายบุรี สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ศิลปะปันจักสีลัต การทำอาชีพในชุมชน หรือเรื่องราวของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ชุมชน อย่างวังเก่าสายบุรี เป็นต้น ทำให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้ในชุมชนเป็นครั้งแรกด้วยความช่วยเหลือของคุณครู และเป็นครั้งแรกที่ชุมชนได้เห็นลูกหลานให้ความสนใจไถ่ถามค้นคว้าเรื่องในท้องถิ่น

“ก่อนลงพื้นที่เด็กๆ ได้วางแผนว่าจะทำอะไร ถ่ายตรงไหน พอลงพื้นที่เด็กจะตื่นเต้น บางคนสนุกจนไม่ได้ทำตามแผนที่วางไว้ แต่เมื่อได้สรุปงานร่วมกัน นักเรียนจะมีความเห็นออกมาในทิศทางเดียวกันว่าคราวหน้าต้องทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” ครูสุนันต์ กล่าว

หลังผ่านการดำเนินโครงการได้ 5 เดือน ผลงานการค้นคว้า และลงมือถ่ายทำของนักเรียนได้ถูกจัดแสดงให้คนในโรงเรียน และชุมชนได้เห็นเป็นครั้งแรกในงาน “วันแห่งการค้นพบ” เมื่อเร็วๆ นี้ แม้โครงการเริ่มต้นมายังไม่ถึง 1 ปีการศึกษา แต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งกับนักเรียน คุณครู และชุมชน

ครูสุนันต์บอกว่า “ตอนนี้นักเรียนหลายคนเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ครูตื่นตัวมากขึ้น ส่วนชุมชนนี่ชัดเจน เพราะเห็นคุณค่าการเรียนรู้ของเด็ก ยินดีให้ความรู้ และตื่นเต้นที่เด็กเข้าไปเรียนรู้ด้วย โรงเรียนได้เชื่อมโยงกับชุมชน จากที่ไม่เคยมีกิจกรรมการศึกษากับชุมชนมาก่อนเลยในพื้นที่นี้”

“อัจฉรา ชั้น ม.2 คือคนที่เปลี่ยนแปลงมากจนครูทุกคนตกใจ จากเด็กที่หนีเรียนตลอด และเงียบมากๆ ผลการเรียน ม.1 ติดศูนย์ 14 วิชา แต่หลังจากเข้าชุมนุมได้ 3 เดือน อัจฉราเปลี่ยนเป็นคนละคน ตั้งใจเรียนมาก กล้าแสดงออก คอยตอบคำถาม และเป็นผู้นำ ทุกวันนี้ไม่หนีเรียนแล้ว เวลาเข้าชุมนุมกระตือรือร้น เด็กสามารถแสดงความคิดได้ทุกอย่าง ไม่มีถูกผิด จึงมั่นใจ กลายเป็นคนลุกขึ้นมากระตุ้นให้เพื่อนทำงาน มีความรับผิดชอบมากถึงขนาดจดสรุปงาน และการบ้านแต่ละวิชาที่ครูมอบหมาย พร้อมวันกำหนดส่งมาติดที่กระดานในชั้นเรียน” ครูนาซีฮา ยูโซะ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของนักเรียน

นางวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของโครงการ และเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับทั้งครู และนักเรียนหลายแบบ ทั้งโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนที่มีเด็กชาติพันธุ์ ครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สนับสนุนว่าต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตนี้ ประยุกต์ใช้กับโรงเรียนในประเทศไทย และประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าบริบทใด

ถือเป็นเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยลดช่องว่างทางการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อยกระดับการศึกษาและก้าวไปสู่อาชีพที่ตนเองต้องการได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image