ครู สพป.พิษณุโลก เขต 1 พา ‘มะโหน่ง’ คว้ารางวัลดีเด่นหน่วยเรียนรู้ Active Learning

นายประยุทธ สุรเดชไพบูลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิษณุโลก เขต 1 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สพป.พิษณุโลก เขต 1 เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนเรียนการสอนโดยใช้ Active Learning ในการเพิ่มเวลาเรียนลดเวลารู้ ให้ผู้เรียนได้สนุกกับการทำกิจกรรม และให้คัดเลือก และยกย่องครูที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ Active Learning ซึ่งผลการคัดเลือกมีข้าราชการครูสังกัด สพป.พิษณุโลก เขต 1 คือ นางขวัญเรือน มาทอง ครูโรงเรียนวัดศรีรัตนาราม (รัตนราษฎร์สงเคราะห์) ได้รับรางวัล “หน่วยการเรียนรู้ Active Learning” ระดับดีเด่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 “หน่วยเรียนรู้ดนตรีไทยน่ารู้ เคียงคู่พอเพียง” มีจุดเด่นของหน่วยการเรียนรู้นี้คือการใช้ “มะโหน่ง” เครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กผสมผสานกับความรู้ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาสมาธิและช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

นางขวัญเรือน กล่าวว่า ได้ทดลองใช้หน่วยเรียนรู้ดนตรีไทยน่ารู้ฯ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในภาคเรียน 2/2559 มีนักเรียน 14 คน แบ่งเป็น ชาย 7 คน หญิง 7 คน ซึ่งมีนักเรียน 5 คน ที่มีภาวะเรียนรู้ช้า มีสมาธิสั้น หน่วยเรียนรู้ดนตรีไทยน่ารู้ฯ เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีลักษณะเด่น คือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง นำไปประยุกต์ใช้ และเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมใกล้ตัวได้ โดยใช้มะโหน่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กมีรูปร่างคล้ายระนาดทุ้มที่ครูชา หรือนายธรรศณ กุลสุวรรณ์  วิทยากรพื้นบ้าน ได้แนวคิดมาจากเครื่องดนตรีอูคูเลเล่ที่มีขนาดเล็กผสมกับ เครื่องดนตรีเบลไลล่า หรือนิ๊งหน่อง ซึ่งมีโน้ตที่ง่ายกว่าระนาดทุ้ม สามารถขนย้ายได้สะดวก ในวงจะประกอบด้วย มะโหน่ง ฉิ่ง กรับ กลอง ฆ้อง นักเรียนในชั้นจะได้รับผิดชอบเครื่องดนตรีต่างชนิดกัน ฝึกซ้อม ท่องจำโน้ต โดยใช้เวลาซ้อมในช่วงพักทานข้าว ส่วนในชั่วโมงเรียนจะเป็นการต่อเพลง

“ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาบูรณาการ เป็นตัวควบคุมให้นักเรียนเกิดความรู้คู่คุณธรรม คือได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติของมะโหน่ง โน้ตดนตรี มีความขยันไฝ่เรียน ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงตามความสามารถเหมาะสมกับตัวตน กับสถานที่ เวลา ความสามารถ และช่วยให้นักเรียนรู้จักระเบียบ และบทบาทของตนเอง เกิดความรักตนเอง ภูมิใจในตนเอง รักคนอื่น โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะเรียนรู้ช้า สามารถดึงศักยภาพในตัวเองออกมาได้ เกิดความภาคภูมิใจในตนเองว่าเล่นดนตรีได้ และเกิดสมาธิ ควบคุมอารมณ์รุนแรงของตนเองได้ และกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนแต่ละคนสูงขึ้น โดยดูได้จากการทดสอบความสามารถพื้นฐานระดับชาติ (NT) นักเรียนสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าระดับประเทศทั้ง 3 วิชา และยังใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเป็นจิตอาสานำวงไปช่วยงานฌาปนกิจให้กับหมู่บ้าน เมื่อมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image