บุรีรัมย์กระแสคึก เล็งถกผู้ว่าฯ เคลื่อนทวงคืน ‘โพธิสัตว์ประโคนชัย’ จากอเมริกา

เร่งบูรณะ - ปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ สถานที่พบพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ที่ถูกนำออกนอกประเทศตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม

วัฒนธรรมจังหวัดเล็งหารือผู้ว่าฯ บุรีรัมย์วางแนวทางแก้ปัญหา หัวหน้าอุทยานฯ ชี้ผลักดันปราสาทเขาปลายบัดให้เป็นมรดกโลก นักวิชาการลงพื้นที่สำรวจปราสาทฯ ชี้ฝรั่งเข้ามารอรับซื้อของโบราณจากชาวบ้านที่ขุดพบ เผยขายแค่ 3-5 พันบาท

ความคืบหน้ากระแสการทวงคืนสมบัติที่ “มติชน” นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการตื่นตัวในหมู่คนไทย พยายามทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถูกบริษัทแห่งหนึ่งนำมาประมูลขาย โดยมีผู้ซื้อไปในราคา 92,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมานักวิจัยรายหนึ่งในสหรัฐเปิดเผยข้อมูลว่าในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกระบุว่าได้มาจาก อ.ประโคนชัย และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ที่ได้รับยกย่องว่างดงามที่สุด โดยมีสภาพสมบูรณ์กว่าองค์ที่มีการประมูลขาย

พระอวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่ The Metropolitan Museum นิวยอร์ค โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)
พระอวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่ The Metropolitan Museum นิวยอร์ค โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมที่ ต.ยายแย้มพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ และขึ้นไปยังปราสาทปลายบัด บนเขาปลายบัด เพื่อตรวจสอบสภาพในปัจจุบัน

นางฮาย ขันธมาลี อายุ 56 ปี กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุยังเป็นเด็ก จำความไม่ได้ แต่บิดาเล่าให้ฟังในภายหลังว่าเคยขึ้นไปขุดบนเขาปลายบัด ซึ่งจะมีการนำร่างทรงขึ้นไปชี้จุดที่จะสามารถขุดพบสมบัติ แต่ไม่ทันได้ขุด ตำรวจมาเสียก่อน เรื่องการลักลอบขุดปราสาทบนเขา เป็นเรื่องที่เล่ากันสืบมาจนทุกวันนี้

Advertisement

ต่อมานายทนงศักดิ์ได้เดินทางไปยังบ้านโนนเจริญ ต.ยายแย้มพัฒนา โดยพบกับ ร.ต.ท.คำผอน เมฆมนต์ กล่าวว่า เคยตามบิดาขึ้นไปเลี้ยงควายบนเขา ได้เจอของเก่ามากมาย ที่จำได้ดีคือทับหลังขนาดใหญ่มาก มีลวดลายเหมือนนาคทอดตัวยาว นอกจากนี้ยังมีสิงโตทำจากหินหน้าปราสาท 2 ตัว ต่อมาสูญหายไป ซึ่งรู้สึกเสียดายมาก

นายสิง วิเวก อายุ 77 ปี กล่าวว่า เพื่อนของตนชักชวนขึ้นไปขุดบนเขาปลายบัดตั้งแต่ยังหนุ่ม เจอพระพุทธรูปนาคปรกในหลุมลึกประมาณเข่า ต้องใช้คน 5-6 คนหามลงมาจากเขา แล้วซ่อนในหนองน้ำ แต่องค์พระฉายแสงออกมาทำให้มีคนเห็นเข้า จึงไปแจ้งตำรวจ

“สมัย นั้นเขาประกาศว่าใครได้พระไปให้นำมาคืนไม่อย่างนั้นจะถูกดำเนินคดี แต่เอาไปคืนชาวบ้านก็ถูกดำเนินคดีอยู่ดี ตอนที่ไปขุดทั้งคนไทยและคนเขมรที่มาอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะขุดได้องค์พระที่เป็นสัมฤทธิ์” นายสิงกล่าว จากนั้นได้พาผู้สื่อข่าวไปชี้จุดที่พบโบราณวัตถุต่างๆ

Advertisement
ชาวบ้านตำบลยายแย้มพัฒนา อำเภอประโคนชัย ให้ข้อมูลเรื่องการลักลอบขุดโบราณวัตถุบนเขาปลายบัดเมื่อ 50 ปีก่อน (คนกลาง-นายสิง วิเวก หนึ่งในผู้ร่วมขุดจากการชักชวนของเพื่อน)
ชาวบ้านตำบลยายแย้มพัฒนา อำเภอประโคนชัย ให้ข้อมูลเรื่องการลักลอบขุดโบราณวัตถุบนเขาปลายบัดเมื่อ 50 ปีก่อน (คนกลาง-นายสิง วิเวก หนึ่งในผู้ร่วมขุดจากการชักชวนของเพื่อน)

จากนั้นนายทนงศักดิ์ได้เดินทางไปยังปราสาทปลายบัด 2 บนเขาปลายบัด เพื่อถ่ายภาพและเก็บข้อมูลสภาพในปัจจุบัน ซึ่งมีการบูรณะโดยกรมศิลปากรแล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ มีแท่งโลหะค้ำยันปราสาทไม่ให้ล้ม นอกจากนี้ยังมีการขุดหลุมตรวจสอบทางโบราณคดีรอบปราสาท มีคนงานราว 5-6 คน ใช้เครื่องตัดหญ้ากำจัดวัชพืชโดยรอบ โดยมีร่องรอยการเผาไฟทั่วบริเวณ เมื่อสอบถามคนงานแจ้งว่าเป็นการเผาต้นหมามุ่ยซึ่งขึ้นอยู่จำนวนมาก ไม่เช่นนั้นไม่สามารถทำงานได้ บริเวณรอบปราสาทมีเศษอิฐและศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก รวมถึงชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม สันนิษฐานว่าเป็นยอดปราสาทที่ตกลงมา

นาย ทนงศักดิ์กล่าวว่า กรมศิลปากรควรมีการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับปราสาทปลายบัด ซึ่งน่าจะมีการนำเสนอเป็นมรดกโลกร่วมกับเส้นทางอารยธรรมปราสาทหินพิมาย พนมรุ้งและเมืองต่ำ นอกจากนี้อยากให้ทางวัฒนธรรมจังหวัดได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุชุดนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากเก่าแก่มากกว่าพันปี ยังเป็นประติมากรรมที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ ไม่พบที่อื่น และที่สำคัญคือ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศไทย ไม่มีประติมากรรมประโคนชัยชุดดังกล่าวจัดแสดงเลย แม้แต่องค์เดียว ซึ่งตนได้มอบเอกสารสำเนาบทความของศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งกล่าวถึงรายละเอียดของประติมากรรมที่อำเภอประโคนชัย รวมถึงบทความภาษาอังกฤษจากวารสาร อาร์ต ออฟ เอเชีย เมื่อ ค.ศ.1970 เขียนโดยนางเอ็มมา ซี บังเกอร์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ ซึ่งปรากฏภาพพระโพธิสัตว์จากประโคนชัย และข้อมูลต่างๆ ให้วัฒนธรรมจังหวัดไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้งได้พูดคุยถึงแนวทางการดำเนินการนำโบราณวัตถุกลับคืนมาอีกด้วย โดยวัฒนธรรมจังหวัดได้รับปากว่าจะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

สำหรับ ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ยายแย้มพัฒนา ใกล้เขาปลายบัด ต่างบอกว่าเรื่องราวการลักลอบขุดเมื่อ 50 ปีก่อน เล่าต่อกันมานาน ซึ่งสำหรับคนรุ่นหลังไม่เคยเห็นพระโพธิสัตว์โบราณเลยกระทั่งเป็นข่าว จึงอยากให้กลับมาอยู่ที่บุรีรัมย์ให้ลูกหลานได้เห็นว่าที่นี่เคยมีของล้ำค่า

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนไทยในอเมริกามีการพูดคุยกันในประเด็นการทวงคืนโพธิสัตว์กลับคืนสู่ ประเทศไทย โดยระบุว่าหากมีการนัดหมายประท้วงเพื่อเรียกร้องวันใด จะขอมีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ยังมีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางโซเชีย ลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก โดยอยากให้สมบัติของชาติกลับมาอยู่ในบ้านเกิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image