ธเนศ หนุนทวงคืนโพธิสัตว์ประโคนชัย ชี้เป็น ‘สิทธิทางวัฒนธรรม’ แนะสู้เพื่อเขยิบสู่การเรียกร้องด้านมนุษยชน

ความคืบหน้ากรณีกระแสการทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถูกบริษัทแห่งหนึ่งนำมาประมูลขาย โดยมีผู้ซื้อไปในราคา 92,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมานักวิจัยคนไทยในสหรัฐเปิดเผยว่า ในพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกระบุว่าได้มาจาก อ.ประโคนชัย และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ ที่ได้รับยกย่องว่างดงามที่สุด โดยมีสภาพสมบูรณ์กว่าองค์ที่มีการประมูลขาย จากนั้นนายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ และนายโชติวัฒน์ รุญเจริญ นักวิชาการอิสระยื่นหนังสือถึงวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อผลักดันทวงคืนและลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมที่ปราสาทปลายบัด 2 บนเขาปลายบัด เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคมที่ผ่านมานั้น

ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการทวงคืนพระโพธิสัตว์ เพราะจะนำไปสู่การสร้างวาทกรรมและการปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิความชอบธรรม ซึ่งฝ่ายเสียเปรียบอย่างประเทศเมืองขึ้น หรือชาวบ้านจะได้เริ่มมีพื้นที่ต่อรองมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการเอาสมบัติคืนมา แต่เป็นเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งมีประโยชน์ในระยะยาวในด้านสิทธิทางวัฒนธรรม โดยหากจะทวงคืนจริงๆ ภาคประชาชนต้องเป็นแกน

“ชาวบุรีรัมย์และที่ไหนก็ตาม ซึ่งถูกทำลายสิทธิทางวัฒนธรรมและมรดกพื้นบ้าน เริ่มรู้แล้วว่าสามารถเรียกร้องได้ หากจะต่อสู้เรื่องนี้ต้องสู้เพื่อขยายการใช้สิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องการจะเอาสมบัติ แต่ต้องขยายความคิดทำให้เป็นวาทกรรมสิทธิชุมชน ผลพวงในระยะยาวคือ จะเป็นการนำเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวบ้านกลับคืนมา ไม่ใช่แค่จากอเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงจากภาครัฐของเราเองด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศกล่าวอีกว่า กรณีแบบนี้ในระยะยาวจะช่วยผลักดันการสร้างความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความชอบธรรมของคนเล็กคนน้อย มีพอๆ กับผู้มีอำนาจหรือผู้มีผลประโยชน์ใหญ่ๆ สมัยก่อนเราสู้เขาไม่ได้ อะไรก็อ้างไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้อ้างได้เกือบทุกอย่าง สามารถเขยิบไปสู่การเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวไร่ ชาวนา ในการความเอาความชอบธรรมกลับคืนมา ไม่ใช่เรื่องของพระโพธิสัตว์อย่างเดียว แต่โยงไปสู่อื่นๆ ได้ เช่น ชาวบ้านที่ถูกเอาเปรียบไปเป็นแรงงานต่าชาติ เรื่องชาวราไวย์ รวมถึงการที่คนชอบสร้างจริยธรรมไปเรียกร้องให้คนนั้นคนนี้ลาออก ให้หยุดทำงาน ซึ่งควรขยายไปถึงความยุติธรรมอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เลือกเฉพาะคนที่หมั่นไส้

Advertisement

“อยากให้สังคมคิดเรื่องนี้คือนอกจากจะทวงพระโพธิสัตว์กลับมา ขอให้เอาสิทธิชาวบ้านกลับมาด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าวและว่า การทวงคืนสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับพลังทางสังคมการเมืองของคู่กรณี อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่ต้องชนะก็ได้ ขอแค่ได้สู้ก็เพียงพอแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image