‘คุรุสภา’ เล็งลดมาตรฐานผลิตครูเหลือ 4 ด้าน ถกเรียนครู 4 ปี 5 ปี 25 ส.ค.นี้

นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพครู ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบ ว่า วันที่ 25 สิงหาคมนี้ คณะอนุกนรมการฯ จะประชุมเพื่อสรุปแนวทางการผลิตครูทั้งระบบเสนอให้นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)พิจารณา ซึ่งรายละเอียดตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ที่สรุปค่อนข้างแน่นอนแล้วคือ การปรับมาตรฐานวิชาชีพครู จากเดิมที่มี 11 มาตรฐาน มาเป็นมาตรฐานที่อิงสมรรถนะมากขึ้น แบ่งเป็น 4 มาตรฐานหลัก คือ มาตรฐานด้านวิชาการ มาตรฐานด้านทักษะ มาตรฐานด้านทัศนคติ และมาตรฐานด้านชุมชน ซึ่งต่อไปจะให้อิสระมหาวิทยาลัยเลือกผลิตบัณฑิตตามความถนัด และสามารถเน้นได้ว่าจะผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะตรงตามความถนัดในด้านใด เพื่อให้ตรงกับความต้องการ จากนั้นทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะมีคณะกรรมการลงไปตรวจสอบว่า แต่ละแห่งผลิตบัณฑิตได้ตรงตามที่กำหนดหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเน้นผลิตตามมาตรฐานด้านใด จะต้องเรียนเรื่องการสอน และทักษะความเป็นครูประกอบด้วย

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าเรื่องเรียนครู 4 ปี หรือ 5 ปีนั้น ยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีข้อเสนอหลายแนวทาง คือ มีทั้งผู้ที่เสนอให้ปรับมาเป็นผลิตครู 4 ปี เพื่อประหยัดงบประมาณ ไม่ให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ขณะเดียวกันก็มีคนไม่อยากให้เปลี่ยนและให้ผลิตครูในหลักสูตร 5 ปีตามเดิม ซึ่งที่ผ่านมาก็พบปัญหาว่า แม้จะเรียนครู5 ปี แต่มหาวิทยาลัยที่ผลิตครู ก็ไม่ได้จัดกิจกรรมเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับเวลาเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ ให้กำหนดเป็นหน่วยกิต เช่น ให้หลักสูตรครูต้องเรียน 160 หน่วยกิต ส่วนจะเรียนกี่ปี ให้แต่ละแห่งไปบริหารจัดการเอง ซึ่งบางแห่งอาจสามารถจัดสอนได้ในเวลา 4 ปี หรือน้อยกว่านั้น หรือบางแห่งอาจสอนได้ 5 ปี แต่แนวทางนี้อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ดังนั้นในการประชุมวันที่ 25 สิงหาคมนี้ จะเร่งหาข้อสรุป ว่าจะเลือกแนวทางใด ซึ่งอาจมีข้อเสนออื่นเข้ามา ทางคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมและสรุปเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ.ต่อไป ส่วนการปรับครั้งนี้จะทันกับการรับนักศึกษาเข้าเรียนในปีการศึกษา 2561 หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการศธ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image