วิษณุ เผยขั้นตอน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9

เมื่อเวลา 19.00น.วันที่ 5 กันยายน ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งในหัวข้อ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในงานสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า ว่า ธรรมเนียมพระศพเเละพระบรมศพที่เข้ามาในประเทศไทย มีคำราชาศัพท์ที่ใช้ คือ พระราชทานเพลิงและถวายพระเพลิง 2 คำนี้ต่างกัน คำว่าถวายพระเพลิงจะใช้กับ พระมหากษัตริย์ พระราชบิดา พระราชมารดา พระอัยกา  และ  พระอัยกะของพระมหากษัตริย์เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นจะเป็นพระราชทานเพลิงทั้งหมด

“ในส่วนพระบรมโกศที่บรรจุพระบรมศพ คำว่า พระบรมโกศ พระโกศ โกศ เป็นคำที่ยอดย้อนคือ คำที่ใช้มาผิดจนกลายเป็นถูก คือในส่วนที่เราเห็นกันด้านนอกที่มีการตกแต่งสวยงามเรียกว่า ลอง ถ้าเป็นพระศพเจ้านายเรียกว่า พระลอง ส่วนโกศ หรือ พระโกศคือสิ่งที่อยู่ข้างใน ใต้ชั้นพระลองอีกที แต่เราเรียกสลับกัน จนวันนี้เราเรียกผิดจนกลายเป็นถูกไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ โกศ พระโกศ  มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในตอนต้นรัชกาลที่ 1 ยังไม่มีงานศพเจ้านาย งานพระศพสำคัญที่เกิดขึ้นใน รัชกาลที่ 1 คืองานของ พระเชษฐภคินี ของรัชกาลที่ 1 ทั้ง 2 พระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์ในเวลาใกล้กัน โปรดให้มีการสร้างพระโกศคู่กัน เป็นอันแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และนั่นคืองานพระศพเจ้านายครั้งแรก” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในส่วนของสถานที่ตั้งพระบรมศพ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งนี้ ร.1 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นและทรงโปรดให้ใช้ประกอบกิจ 2 อย่างคือ 1.พระราชพิธีสำคัญ และ 2.ใช้ประดิษฐานพระบรมศพ และพระศพเจ้านายองค์สำคัญเท่านั้น ซึ่งขณะนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และเมื่อมีการอัญเชิญพระโกศออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจะมาประดิษฐานที่พระเมรุมาศ อีกเรื่องที่สำคัญคือพระราชรถ ในงานพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 จะใช้ราชรถที่เรียกว่า พระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งเป็นราชรถที่สำคัญ และจะมีพิธีชักราชรถ โดยนายกรัฐมนตรี ในอีกไม่กี่วันนี้ โดยพระมหาพิชัยราชรถจะใช้เคลื่อนขบวนพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสู่พระเมรุมาศซึ่งอยู่บริเวณท้องสนามหลวงในอดีต จึงเรียกท้องสนามหลวงว่า ทุ่งพระเมรุ แล้วนอกจากพระเมรุมาศแล้ว ยังประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างรอบพระเมรุมาศ ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม คือศาลาที่อยู่หน้าพระเมรุมาศ จะเป็นที่พระทับของพระมหากษัตริย์และแขกคนสำคัญ ซึ่งพระที่นั่งทรงธรรมในครั้งนี้ เป็นพระที่นั่งที่ใหญ่ที่สุด บรรจุคนได้ 2,500 คน ส่วนคนอื่นจะนั่งที่ศาลาล้อมรอบเรียกว่าศาลาลูกขุน

นายวิษณุ กล่าวอีกว่าพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่จะมาถึงจัดขึ้น 5 วัน ถือเป็นพระราชพิธีที่สั้นที่สุด โดยจะเริ่มวันที่ 25 ตุลาคม เป็นพระราชพิธีออกพระเมรุมาศ ในวันที่ 26 ตุลาคม จะมีพระราชพิธีตั้งแต่ช่วงเช้า คือพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นสู่ราชรถ ซึ่งจะมีการจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ โดยพระมหากษัตริย์จะอยู่ที่ริ้วขบวนที่ 1 เมื่อขบวนยาตราถึงท้องสนามหลวง จะเคลื่อนพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถ สู่ราชรถปืนใหญ่ แล้วจึงเวียนพระเมรุมาศ 3 รอบ แล้วเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่พระเมรุมาศ จากนั้นในช่วงเย็นจะเริ่มพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 27 ตุลาคม จะเก็บพระบรมอัฐิและจะเชิญพระบรมอัฐิและพระอังคารสู่พระบรมหาราชวัง วันที่ 28 ตุลาคม จะออกทุกข์

Advertisement

“จากนั้นจะอัฐเชิญพระอังคารจากพระราชวังแยกไป 2 ส่วนไปประดิษฐานที่วัดประจำรัชกาล 2 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” รองนายกฯกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image