อาจารย์ มรภ.ศรีสะเกษหนุนทวงคืน’โพธิสัตว์’ แต่ห่วงบานปลายกลายเป็น’ชาตินิยม’

ภาพจากเฟซบุ๊ก 'เที่ยวทั่วไทยไปกับนายเอก ยอดชาย'

ความคืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อำเภอละหานทราย (ปัจจุบันอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อผลักดันการทวงคืน อีกทั้งมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์ ซึ่งต่อมาวัฒนธรรมจังหวัดเผยว่าอาจมีการจัดเสวนาให้ความรู้และปลูกจิตสำนักนั้น

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับกระแสการตื่นตัวทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ เพราะสะท้อนถึงการมีจิตสำนึกทางอัตลักษณ์ของตน แต่ก็ยังรู้สึกเป็นห่วงประเด็นของชาตินิยม ดังนั้น สถาบันการศึกษาและกรมศิลปากรควรให้ความรู้ และคำอธิบายทางด้านวิชาการ นอกจากนี้ การดำเนินการทวงคืนควรเป็นระบบ และต้องวางแผนล่วงหน้าว่าหากได้คืนมาจริงๆ จะดูแลอย่างไร

 

ชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ
ชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ

“เห็นด้วยกับกระแสทวงคืน ที่แสดงถึงความต้องการอัตลักษณ์และตัวตนของชาวบ้าน แต่ต้องไม่ให้กลายเป็นเรื่องของชาตินิยม ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว แต่คงไม่กระทบมากเท่ากรณีทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ รวมถึงประเด็นปราสาทพระวิหาร ซึ่งเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่กรณีพระโพธิสัตว์ไม่มีข้อขัดแย้งอย่างชัดเจน แต่จะเป็นการถกเถียงของคนในชาติ ระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับอนุรักษนิยม แต่กระแสแบบนี้ไปเร็ว ต้องระวัง ถ้าคนในประเทศรับรู้อย่างนักวิชาการรับรู้ก็ไม่มีปัญหา ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานศึกษาและกรมศิลปากร ต้องให้ความรู้ ควรเปิดเวทีพูดคุยกัน” นายชานนท์กล่าว และว่า ส่วนการทวงต้องเป็นระบบว่าจะทวงอย่างไร กลับมาแล้วจะเก็บรักษาอย่างไร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่มีความพร้อม เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ หลังจากกรณีโพธิสัตว์จะส่งผลต่อการทวงคืนสิ่งอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น วรรณกรรมโบราณที่ไปอยู่ต่างประเทศ อาทิ ใบลาน สมุดข่อย ในหอสมุดที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งตนมองว่าจะทำให้มีคนค้นคว้ากว้างขวาง คนต่างชาติสนใจ ดังนั้น ควรพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

Advertisement

นายธนชัยพนม ชื่นชม อายุ 50 ปี ชาวบ้านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นข่าวเรื่องการทวงคืนโพธิสัตว์กันมาก ทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ทันเหตุการณ์ลักลอบขุด นำเรื่องนี้กลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง โดยเชื่อว่ามีการเกิดอาเพศ ทำให้หมู่บ้านแห้งแล้งถึง 7 ปี นอกจากนี้ ได้พูดคุยกับพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมในสำนักสงฆ์พรสวรรค์ บริเวณเชิงเขาปลายบัด จึงทราบว่ามีคนขึ้นมาเยี่ยมชมปราสาทปลายบัดมากเป็นพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีคนรู้จักปราสาทดังกล่าวมากนัก แต่หลังเกิดกระแสข่าวมีประชาชนเดินทางมามากขึ้น รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาเพื่อชมปราสาทเขาปลายบัดโดยเฉพาะ

ปราสาทเขาปลายบัด 2 บนเขาปลายบัด
ปราสาทเขาปลายบัด 2 บนเขาปลายบัด

ด้าน นายไพฑูรย์ บาลโสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงกรณีมีข่าวการประมูลขายเทวรูป “อวโลกิเตศวร” ในเว็บไซต์ต่างประเทศ ราคาหลายล้านบาท ที่มีการะบุว่าเทวรูปโบราณนี้มาจากพื้นที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ นั้นว่า ในพื้นที่ อ.ประโคนชัยมีแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุหลายพื้นที่มาก โดยเฉพาะในเขต ต.จรเข้มาก จะมีแหล่งโบราณสถานหลายแห่ง เฉพาะปราสาทต่างๆ มีอยู่ 5 แห่ง ประกอบด้วยปราสาทเมืองต่ำที่เป็นปราสาทที่องค์ใหญ่ที่สุดในตำบล กรมศิลปากรได้บูรณะแล้ว ปราสาทบ้านบุตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านบุ กรมศิลปากรได้บูรณะแล้วเช่นกัน ปราสาทบัวรายได้รับการบูรณะแล้ว ปราสาทเขาปลายบัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาปลายบัด มี 2 องค์ ขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างการบูรณะ โดยมีการตั้งหินแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มขั้นตอนการบูรณะตัวปราสาท และปราสาทบ้านเก่ายังไม่ได้รับการบูรณะ

“ที่ผ่านมาชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ร่วมกันดูแลรักษาโบราณสถานทุกแห่งตลอดมา ชาวบ้านในละแวกนี้จะรู้ดี และไม่เคยมีการขุดค้นหาวัตถุโบราณของชาวบ้านในพื้นที่แต่อย่างใด เพราะชุมชนจะรักและหวงแหนโบราณสถาน โบราณวัตถุ และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน ทางชุมชนเองร่วมกับ อปท.ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุในพื้นที่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นประจำ เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกัน แม้ว่าทางกรมศิลปากรจะเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบโดยตรง แต่ในส่วนของชุมชนก็ร่วมดูแลรักษาและหวงแหน เพราะเป็นสมบัติของชาติบ้านเมือง สมบัติของชุมชนร่วมกัน” นายไพฑูรย์กล่าว

Advertisement

นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า ในส่วนของเทวรูปที่ถูกระบุว่ามาจากพื้นที่ อ.ประโคนชัย นั้น ถ้าเป็นเรื่องจริงเชื่อมั่นว่าไม่ใช่ฝีมือการลักลอบนำออกไปของคนในชุมชนอย่างแน่นอน เพราะทุกคนที่นี่มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในพื้นที่ยังไม่มีการปลุกกระแสการทวงคืน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ระบุแน่ชัดของแหล่งที่มาของเทวรูป ดังนั้น อยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและยืนยันแหล่งที่มาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะหากมาจากพื้นที่ใดและเป็นสมบัติของชาติจริง เชื่อมั่นว่าจะเกิดกระแสการทวงคืนจากพื้นที่ขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสื่อสังคมออนไลน์มีผู้สนับสนุนการทวงคืน บางส่วนเปลี่ยนภาพปกในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นภาพโพธิสัตว์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ซึ่งมีอายุราว 1,200 ปี จัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง-กำพงพระ นักวิชาการเรียกว่า ประติมากรรมแบบ “ประโคนชัย” ซึ่งพบในที่ราบสูงโคราช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image