วธ.เปิดตัวหนังสือ ‘พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย’ รวม 189 บทกวี ภาคประชาชน แสดงความอาลัย ร.9

 

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า วธ.จัดทำหนังสือที่ระลึก และจดหมายเหตุงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 11 รายการ ประกอบด้วย หนังสือจดหมายเหตุฉบับหลัก 1 รายการ หนังสือจดหมายเหตุฉบับรอง 6 รายการ หนังสือที่ระลึก 3 รายการ และแผ่นพับที่ระลึก 1 รายการ โดย 1 ในจดหมายเหตุฉบับรอง คือ หนังสือจดหมายเหตุบทกวีนิพนธ์โครงการกานท์กวีคีตการปวงประชาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีชื่อว่า “พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย” จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื้อหาหนังสือจดหมายเหตุฉบับนี้ ได้รวบรวมบทกวีนิพนธ์ที่ศิลปิน ประชาชนหลากหลายอาชีพ เด็กและเยาวชนแต่งขึ้น เพื่อแสดงความอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ 189 บท โดยมีภาพประกอบที่ถ่ายทอดเรื่องราวความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทย โดยขณะนี้ วธ.ได้จัดทำต้นฉบับหนังสือจดหมายเหตุดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดพิมพ์

“การจัดทำหนังสือจดหมายเหตุฉบับนี้ วธ.ได้คัดเลือกบทกวีนิพนธ์ที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมดกว่า 10,000 บท มีตั้งแต่ผู้ที่อายุ 90 ปี มาจนถึงผู้อายุน้อยสุด เรียนในระดับประถมศึกษา คัดเลือก และบรรจุไว้ในหนังสือ 189 บท ซึ่งเลข 1 สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นเอกบรมกษัตริย์ ส่วนเลข 89 หมายถึงพระชนมายุ 89 พรรษา โดยคณะทำงานได้พิจารณาคัดเลือกบทกวีนิพนธ์แสดงความอาลัย โดยมีหลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นผลงานประพันธ์ของบุคคล ไม่ใช่หน่วยงาน หรือองค์กร มีเนื้อหา และการใช้ถ้อยคำงดงาม สมพระเกียรติ มีรูปแบบการประพันธ์ถูกต้องตามหลักภาษา และฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทย ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยได้อย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม บทกวีนิพนธ์ถวายความอาลัย และภาพถ่ายที่ไม่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก รวบรวมไว้ในหนังสือจดหมายเหตุดังกล่าว จะนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ จ.ปทุมธานี เพื่อบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุแห่งชาติ และเป็นเกียรติประวัติที่แสดงถึงความจงรักภักดี ความอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้” นายวีระ กล่าว

Advertisement

นายวีระกล่าวอีกว่า ส่วนภาพประกอบเป็นภาพถ่ายแสดงถึงความโศกเศร้า สุดอาลัยของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ต่อการเสด็จสวรรคตนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึงวันสุดท้ายที่ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 โดยคัดเลือกภาพถ่ายจากทั้งหมดกว่า 20,000 ภาพ ซึ่งเป็นผลงานช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพ จิตอาสา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึง ประชาชนที่ส่งภาพเหล่านี้มายัง วธ.อย่างไรก็ตาม วธ.ได้จัดพิมพ์หนังสือ “พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย” จำนวน 15,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายไปยังห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน หอสมุดแห่งชาติ หน่วยงานราชการ สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถดาว์โหลดได้ที่เว็บไซต์ วธ.

ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง คณะทำงานคัดเลือกคัดเลือกบทกวีนิพนธ์ กล่าวว่า เมื่อทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รู้สึกเสียใจอย่างมาก และได้นั่งดูถ่ายทอดสดรถพระที่นั่งเคลื่อนพระบรมศพออกมาจากโรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ความเสียใจถูกส่งผ่านบทกลอน พร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมาไม่หยุด และได้นำบทกลอนดังกล่าวมาบรรจุไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม มีผู้ส่งบทกวีมาให้คัดเลือกจำนวนมาก จากเคยคิดว่าบทกวีกำลังจะสูญหาย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นประเทศไทยเป็นเมืองแห่งกวี เพราะผู้ที่ส่งบทกวีมาให้คัดเลือกมีตั้งคนอายุ 90 ปี จนถึงเด็กประถม ทั้งนี้ การคัดเลือกจะเน้นความถูกต้องตามฉันทลักษณ์อย่างถูกต้อง มีเนื้อหาที่เหมาะสม สมพระเกียรติ ซึ่งทุกบทกวีที่ส่งเข้ามาให้คัดเลือกล้วนมีความหมายที่ดี ลึกซึ้ง สื่อถึงความเศร้าโศกเสียใจ และความรักที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9
นายอภิชาติ ดำดี นักเขียน กล่าวว่า ตนเขียนบทกวี “ถามจันทร์” ขึ้นในคืนวันลอยกระทงเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประชาชนคนไทยทุกคนไม่ได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ลงมาลอยพระประทีป ค่ำวันนั้นเป็นคืนเดือนเพ็ญ 15 ค่ำ พระจันทร์กลมโตเต็มดวงสวยเหมือนเช่นทุกปี แต่คนไทยทุกคนกลับรู้สึกเศร้า เพราะตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทุกดวงใจหลอมรวมในเรื่องเดียวกัน คนไทยร้องไห้ในเรื่องเดียวกัน แรงบันดาลใจของบทกวีนี้เกิดจากภาพพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จฯ ไปดูแลพสกนิกรไทยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารแค่ไหนก็ไม่ทรงย่อท้อ มากกว่าการเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ ซึ่งมีระยะทาง 3.6 แสนกิโลเมตร แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเดินทางไปทั่วประเทศปีละ 25,000 กิโลเมตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกร ตลอด 70 ปี

นายชัยพร ทับพวาธินท์ คีตศิลปินอาวุโส สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทันทีที่สำนักพระราชวังออกประกาศการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตนรู้สึกเศร้าเสียใจเช่นเดียวกันคนไทยทั้งประเทศ ในคืนนั้นเขียนไปร้องไห้จนได้บทกวี 13 บท และไม่สามารถทำอะไรต่อได้อีก ซึ่งบทกวีที่แต่งได้รับคัดเลือกมารวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ หากถามว่าภาคภูมิใจหรือไม่ รู้สึกภูมิใจ แต่ก็รู้สึกโศกเศร้า เป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ก็ขอเป็นตัวแทนประชาชนทำหน้าที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ เพื่อถวายงานแก่พระองค์ ซึ่งไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่จะทำ และรำลึกถึงพระองค์ท่านตลอดไป

Advertisement

น.ส.สิริพร บุตรฉา ชั้น ม.5 โรงเรียนวัดสระแก้ว (รุ่งโรจน์ธนะกุล อุปถัมภ์) กล่าวว่า ในคืนที่ 13 ตุลาคม พอทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ตนกับเพื่อนรู้สึกเศร้าอย่างมาก ที่ผ่านมาติดตามพระอาการประชวนของพระองค์มาโดยตลอด เมื่อรู้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคต ก็ได้ชวนเพื่อนๆ ไปสวดมนต์ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และวันรุ่งขึ้นได้ร่วมกับเพื่อน 4 คนแต่งกลอนเพื่อถวายความอาลัย เพราะพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อพวกเราทุกคนอย่างมาก ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับโรงเรียนเดือนๆ ละ 4.5 แสนบาท เพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันให้เด็กทุกคนในโรงเรียน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กกำพร้า และเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่สูง มีประมาณ 2,000 กว่าคน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แม้ในวันนี้ความโศกเศร้าจะยังมีอยู่ แต่พวกตนจะแปรเปลี่ยนให้เป็นพลัง ดำเนินรอยตามคำสอนให้ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image