สุจิตต์ วงษ์เทศ : น้ำท่วมปาก เลยต้องลอยเครื่องเซ่นผีน้ำผีดิน

น้ำท่วมปาก เลยต้องลอยเครื่องเซ่นผีน้ำผีดิน

รัฐบาลบอกอย่างไม่อาย หมายโฆษณาชวนเชื่ออย่างเหลือเชื่อ ว่าน้ำหลากปีนี้ป้องกันแก้ไขได้ทั้งๆ ปริมาณน้ำมากพอๆ กับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ในความจริงแก่ตาปริมาณน้ำต่างกันเห็นได้ชัด แม้ปีนี้น้ำมากแต่ไม่มากเท่าปี 2554

ไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ต่างกันเห็นได้ชัดเจนมากคือปริมาณน้ำหลาก จ. พระนครศรีอยุธยา ระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ฝั่งตะวันตก แถบ อ. บางบาล จ. พระนครศรีอยุธยา และต่อเนื่องถึง อ. ผักไห่ อ. เสนา มีน้ำเข้าทุ่งเป็นแก้มลิง, พื้นที่รับน้ำ มองเหมือนทะเลสาบสุดลูกหูลูกตา ผู้คนที่มีบ้านเรือนแถบนั้นต้องเดือดร้อนสาหัส และมีแนวโน้มว่าน้ำอยากอยู่ยาว

Advertisement

ฝั่งตะวันออก แถบ อ. อุทัย ต่อเนื่องไป อ. วังน้อย มองไม่เห็นน้ำหลากท่วมเหมือนฝั่งตะวันตก ผมไปตระเวนมาเมื่อตอนบ่ายวานนี้เอง (พุธ 1 พฤศจิกายน)

น้ำฝากจากรัฐ

น้ำท่วมมากทางฝั่งตะวันตก (แถบบางบาล) ของแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งจากน้ำหลากธรรมชาติ และเป็นของฝากจากรัฐจัดให้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมย่านสำคัญ คือ เมืองมรดกโลก แหล่งประวัติศาสตร์ บริเวณเกาะเมืองอยุธยา กับเมืองอุตสาหกรรม ย่านเศรษฐกิจใหญ่ทางทุ่งอุทัย

ชาวบ้านแถบบางบาลรำพันว่า ปี 2554 ท่วมรอบเดียว 3 เดือน แต่ปี 2560 ท่วมแล้วท่วมอีกไม่น้อยกว่า 3 รอบแล้ว ไม่รู้จะเลิกเมื่อไร ไม่มีอนาคต

Advertisement

น้ำท่วมปาก น้ำท่วมทุ่ง

เมื่อรัฐบาลเมาท์อย่างโมเมยกเมฆมั่วๆ ว่าปีนี้น้ำมากเท่า พ.ศ. 2554 แต่รัฐบาลแก้ไขได้ดี เลยไม่ท่วมทั่วประเทศ

เท่ากับ “ปั้นน้ำเป็นตัว” ประชาชนชาวบ้านต้อง “น้ำท่วมปาก” อยู่กับเผด็จการ “น้ำท่วมทุ่ง” ชาวบ้านต้องบรรเทาความทุกข์เบื้องต้นช่วยตนเองไปพลางก่อน โดยลอยเครื่องเซ่นผีน้ำผีดินไปกับลอยกระทง เพื่อขอขมาธรรมชาติ

ลอยเครื่องเซ่นผี

การทำนาปลูกข้าว ซึ่งคนทั้งหลายเชื่อว่าได้ทำร้ายเจ้าแม่แห่งน้ำและดินเมื่อแทงดินแทงน้ำทำนาปลูกข้าว ครั้นถึงสิ้นปีฤดูน้ำหลากจึงมีพิธีขอขมาน้ำและดิน เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหาร ตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว

พิธีลอยเครื่องเซ่นผีขอขมาน้ำและดินไม่หยุดนิ่งตายตัวแบบใดแบบหนึ่ง แต่ปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เหมือนเดิม มีพัฒนาการตามลำดับจนถึงปัจจุบัน

งานลอยกระทง

ลอยกระทง ทำด้วยใบตอง มีครั้งแรกสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจากลอยโคมส่งน้ำยุคกรุงศรีอยุธยา ที่มีรากเหง้าจากชุมชนอุษาคเนย์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีลอยกระทงในกรุงสุโขทัย ส่วนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ เป็นหนังสือแต่งสมัย ร.3 ยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ยุคดั้งเดิม ไม่มีวันลอยกระทงกำหนดตายตัว ไม่มีงานรวมศูนย์แห่งใดแห่งหนึ่งเหมือนปัจจุบัน แต่เป็นงานของใครของมัน บ้านใครบ้านมัน มีช่วงเวลานานราว 30 วันก่อนขึ้นเดือนอ้าย เปลี่ยนปีนักษัตร

ลอยกระทงถูกสร้างใหม่ราว 60 ปีมานี้ ให้เป็นวัฒนธรรมป๊อบ แล้วมีเพลงรำวงลอยกระทง เกี่ยวโยงเสี่ยงทายหาคู่ครองของสาวหนุ่ม

ต่อมาราว 40 ปีมานี้ ลอยกระทงถูกทำให้เป็นงานรับนักท่องเที่ยว โดยสร้างสิ่งแปลกปลอม หรือเฟคๆ แต่ไม่เป็นวันหยุดยาวเหมือนสงกรานต์

ดอกไม้ไฟ  เล่นเทศกาลลอยกระทง เป็นประเพณีในราชสำนัก รับจากจีนซึ่ง
ค้นพบดอกไม้ไฟแพร่หลายแล้วในจีนตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา เรือน พ.ศ. 1800 จากนั้น
ส่งถึงรัฐต่างๆ อุษาคเนย์

ยี่เป็ง ภาคเหนือเรียกลอยกระทงกลางเดือน 12 ว่า “ยี่เป็ง” หมายถึง เพ็ญเดือนยี่ (คือเดือนที่สอง)

เพราะภาคเหนือมีฤดูกาลเร็วกว่าภาคกลางราว 2 เดือน ดังนั้น ขณะภาคกลางเป็นเดือน 12 แต่ภาคเหนือล่วงไปแล้วเป็นเดือน 2

แสดงว่าลอยกระทง เป็นประเพณีของภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ภาคเหนือเพิ่งรับไปสมัยหลัง น่าจะช่วงหลัง ร.5 จึงเล่นในเดือน 2 ยี่เป็ง

ภาคเหนือเป็นดินแดนล้านนา เรียกตัวเองว่าลาว เป็นรัฐเอกราช เคยอยู่ในอำนาจพม่า ไม่เคยอยู่กับอยุธยา เพิ่งตกเป็นประเทศราชของกรุงธนบุรีในพระเจ้าตาก แล้วใกล้ชิดราชสำนักกรุงเทพฯ สมัย ร.5 กรณีพระราชชายาดารารัศมี

[อ่านรายละเอียดเรื่อง ลอยกระทง ประเพณีกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่กรุงสุโขทัย ในเว็บไซต์ www.sujitwongthes.com]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image