ความเป็นมาของอาบัติปาราชิก (5) : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ปาราชิกข้อที่ 2 ทรงบัญญัติที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีความเป็นมาดังต่อไปนี้
ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ มีพระภิกษุรูปหนึ่งนาม ธนิยะ กุมภการบุตร (บุตรช่างหม้อ) กุฏิของท่านที่มุงด้วยหญ้า ถูกคนตัดหญ้ารื้อเสียถึง 3 ครั้ง เพื่อตัดปัญหา ท่านจึงสร้างกุฏิด้วยดินเผาสวยงามมากหลังหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงทราบ รับสั่งให้ทำลายเสีย เพราะโอ่อ่าสวยงามเกินกว่าสมณศากยบุตรจะอยู่อาศัย

ท่านธนิยะจึงคิดสร้างกุฏิด้วยไม้ ไปหาคนเฝ้าไม้หลวง บอกว่า พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้ท่านมาเอาไม้ไปสร้างกุฏิ คนเฝ้าไม้ก็ถวายไม้ไป ด้วยเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้จริง ครั้งวัสสการพราหมณ์มาตรวจไม้ พบว่าไม้หายไป จึงถามไถ่เอาความจริง ได้ทราบว่าพระมาเอาไป จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้คนไปนิมนต์พระธนิยะมา ตรัสถามว่า ได้ทราบว่าพระคุณเจ้ากล่าวว่าโยมถวายไม้พระคุณเจ้าจริงหรือ

“จริง มหาบพิตร” พระธนิยะยืนยัน
“โยมมีภารกิจมาก จนจำไม่ได้ว่าได้เคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด”

“ตอนที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในพิธีราชาภิเษกพระองค์ได้ตรัสว่า หญ้า ไม้ และน้ำที่มีอยู่ในแว่นแคว้น ข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงใช้สอยเถิด อาตมภาพถือเอาพระดำรัสนี้มาเป็นพระบรมราชานุญาต จึงได้เอาไม้หลวงไป”

Advertisement

พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับคำแก้ตัวของพระธนิยะดังนี้ จึงตรัสว่า “นั่นโยมหมายถึงหญ้า ไม้ และน้ำที่อยู่ในป่า ที่ไม่มีใครหวงแหน พระคุณเจ้าอ้างเลศถือเอาไม้หลวงอย่างนี้หาควรไม่ ถ้าเป็นคนธรรมดามาลักไม้หลวงอย่างนี้ คงต้องถูกจองจำหรือเนรเทศแล้ว แต่พระคุณเจ้าเป็นสมณะนับว่ารอดตัวเพราะเพศนักบวชแท้ๆ ต่อไปพระคุณเจ้าอย่าทำเช่นนี้อีก”

คนทั้งหลายได้ข่าวนั้น ก็พากันโจษจันกันไปทั่วว่า สมณศากยบุตรไม่มีความละอาย ทุศีล พูดเท็จ ยังปฏิญาณว่าตนเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่อีกหรือ ขนาดพระเจ้าแผ่นดิน สมณะเหล่านี้ยังหลอกลวงได้ ไฉนจักไม่หลอกลวงคนอื่นเล่า

เสียงติฉินนินทาทำนองนี้แพร่ขจรไปไกล จนทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ รับสั่งถามพระธนิยะว่า เธอได้ถือเอาไม้หลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปจริงดังข่าวหรือ

Advertisement

พระธนิยะกราบทูลตามจริงว่า เป็นความจริง พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสตำหนิด้วยคำแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ (บุรุษเปล่า, คนไม่เอาไหน) การกระทำของเธอไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ไฉนเธอบังอาจถือเอาไม้หลวงที่เขาไม่ให้ การกระทำของเธอไม่เป็นที่เลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว (หมายถึงทำให้ผู้ที่เลื่อมใสแล้วเลิกนับถือหรือหันไปนิยมลัทธิศาสนาอื่นเสีย)

ขณะนั้นมีภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษานั่งอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าทรงหันไปตรัสถามเธอว่า ในทางโลก คนขโมยทรัพย์สิ่งของที่เขาไม่ให้ประมาณเท่าใด จึงถูกจองจำบ้าง ประหารชีวิตบ้าง เนรเทศบ้าง

พระรูปนั้นกราบทูลว่า ประมาณบาทหนึ่งบ้าง เกินบาทหนึ่งบ้าง

สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ บาทหนึ่งเท่ากับห้ามาสก

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ 2 ความว่า “ภิกษุใดถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว พึงประหารเสียบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย เพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้จำนวนเห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

นี่คือบทบัญญัติครับ ตีความง่ายๆ ก็คือ ภิกษุลักทรัพย์จำนวนหนึ่งบาท หรือห้ามาสก (ดังกล่าวข้างต้น) ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันที

จำนวนห้ามาสกหรือหนึ่งบาทนั้นเท่าใดกันแน่ เอาไว้คราวหน้าจะว่าให้ฟัง คราวนี้มาพูดถึงเหตุการณ์หลังจากทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ก่อน

พระธนิยะ เป็นปาราชิกเพราะลักทรัพย์ แต่เนื่องจากเป็น “ต้นบัญญัติ” (อาทิกัมมิกะ) ก็ไม่ต้องสึก แต่ถ้าภิกษุรูปอื่นทำอย่างนั้นบ้างก็ต้องถูกจับสึก

สมัยนั้น ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พระ 6 รูป) เป็นพวก “หัวหมอ” ที่มักประพฤติไม่เหมาะสม เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทมากต่อมาก เรียกว่า “แก๊งหกคน” ก็คงไม่ผิดกระมัง

ท่านเหล่านี้ชวนกันไปลักผ้า ที่ช่างย้อมเขาตากไว้ที่ราวผ้าในป่าแห่งหนึ่ง ได้มาแล้วก็มาแบ่งปันกัน แถมมีใจเอื้อเฟื้อแจกภิกษุรูปอื่นอีกด้วย เมื่อถูกถามว่าไปรวยผ้ามาจากไหน พวกเธอก็ตอบหน้าตาเฉยว่า “ลักพวกช่างย้อมเขามา” ครั้นพระทั้งหลายถามว่า พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้พระลักทรัพย์คนอื่นแล้วมิใช่หรือ ทำไมพวกท่านขืนทำ

“พระองค์ทรงห้ามลักทรัพย์ในบ้านเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงป่ามิใช่หรือ” แน่ะ ทำเป็น “หัวหมอ” เสียด้วย

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ว่าจะถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม ต้องอาบัติปาราชิกเหมือนกัน

ครับ คนที่มียางอาย เมื่อห้ามแล้วก็จะไม่ละเมิด แต่คนประเภทที่พระท่านเรียกว่า “ทุมมังกุ” ก็ทำได้สบายมาก คำว่า “ทุมมังกุ” แปลตามตัวว่า “คนแก้ยาก” แปลง่ายๆ ก็คือ พวกตราช้างเรียกพี่นั่นแหละครับ

เมื่อกูเก่ง

ฉันมีปัญ-  ญาล้น  จนหัวโต
พวกแกโง่  ดูหมิ่นฉัน  กันจนได้
ฉันอยากฆ่า  ตัวตาย  ให้ใครใคร
ได้เข้าใจ  ว่าใครโง่  โขกว่ากัน
ฉันมีดี  อะไรๆ  ไม่แกล้งว่า
ฉันเก่งกว่า  คนตั้งแสน  เป็นแม่นมั่น
หัวฉันโต  กว่าหัวช้าง  ไม้แกะกัน
ทำไมแก  ไม่กลัวฉัน  น่าขันเอยฯ

พุทธทาส อินทปัญโญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image