ผลการประเมิน PISA 2015 ด้านแก้ปัญหาแบบร่วมมือ 52 ปท.พบ น.ร.หญิงได้แต้มสูงกว่าชาย

 

นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อานวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ไทยร่วมกับ OECD ดำเนินโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศในการเตรียมความพร้อมเยาวชนอายุ 15 ปี ให้มีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต นอกจากการประเมินการรู้เรื่องด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว ได้เพิ่มการประเมินสมรรถนะด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ หรือ CPS (Collaborative Problem Solving) ที่นักเรียนต้องใช้ทั้งทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการทำงานแบบร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่ม ทำภารกิจในข้อสอบให้สำเร็จลุล่วง โดย OECD ได้เผยแพร่ผลการประเมินสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ 52 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เลือกสอบสมรรถนะนี้ใน PISA 2015 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลการประเมินพบว่า คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 561 คะแนน ญี่ปุ่น 552 คะแนน ฮ่องกง 541 คะแนน เกาหลี 538 คะแนน) และแคนาดา และเอสโตเนีย 535 คะแนน

นางพรพรรณกล่าวอีกว่า สำหรับไทยมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ 436 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 500 คะแนน) โดยกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนน 559 คะแนน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนน 520 คะแนน สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนนักเรียนหญิงมีคะแนนสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือสูงกว่านักเรียนชายในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย 29 คะแนน ส่วนไทย นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 35 คะแนน การที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย มีความสัมพันธ์ต่อเจตคติที่ดีที่นักเรียนหญิงมีต่อการทำงานเป็นทีมมากกว่านักเรียนชาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image