คาดมหา’ลัยทยอยปิดเหลือ 120 แห่ง ปี’63 ราชภัฏบุรีรัมย์ชี้เทรนด์พยาบาลมาแรง

 

กรณีนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่าเทรนด์คณะยอดฮิตในปี 2561 คือ คณะ/สาขาที่มีงานทำ รายได้ดี และมั่นคง ได้แก่ สาขาด้านอุตสาหกรรมต่างๆ วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาล โดยสาขาที่โดดเด่นคือวิศวกรรมโยธา เพราะรองรับเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) มองว่าคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ยังได้รับความนิยมอันดับ 1 ตามด้วยคณะนิติศาสตร์ และคณะ/สาขาด้านธุรกิจบริการ ธุรกิจการบิน ส่วนนิเทศศาสตร์ซบเซา เพราะคนกลัวตกงาน โดยเตรียมทบทวนปรับปรุง/ยุบเลิก 33 สาขาเพราะคนไม่นิยม ขณะที่นางเกศินี วิฑูรชาติ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มองว่าเทรนด์คณะยอดฮิตในปี 2561 ของ มธ.คือ สาขาบัญชี การเงิน และวิศวะ เพราะสามารถนำมาบูรณาการกับสาขาอื่นได้ รวมถึงวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องจากคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่วนนายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) มองว่าคณะครุศาสตร์ยังคงเป็นที่นิยม แต่บางส่วนก็เปลี่ยนมาเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น อาทิ สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิศวะ บัญชี ภาษาอังกฤษ การท่องเที่ยวนั้น

น.ส.มาลิณี จุโฑปะมา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในส่วนของ มรภ.บุรีรัมย์ คาดว่าปี 2561 ก็คงไม่ต่างจากปีที่ผ่านๆ มาคือคณะครุศาสตร์ยังเป็นที่นิยมสูงที่สุด โดยปีที่ผ่านๆ มายอดผู้สมัครคณะครุศาสตร์ของ มรภ.บุรีรัมย์อยู่ที่ 5,000 คน จากยอดผู้สมัครทุกคณะ หรือคิดเป็นสัดส่วน 50:50 ขณะที่คณะครุศาสตร์สามารถรับได้แค่ 700 คน โดยที่ต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป ส่วนสาขาปฏิบัติ เกรด 2.75 ขึ้นไป และอย่างการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือทีแคส รอบแรกที่ผ่านมาผู้สมัครก็ยังคงนิยมคณะครุศาสตร์อยู่

รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ กล่าวต่อว่า ส่วนสายวิทยศาสตร์สุขภาพของ มรภ.บุรีรัมย์ มาแรงในสาขาสาธารณสุขชุมชน นอกจากนี้ยังมีบัญชี และที่น่าสนใจคือตลาดแรงงานในบุรีรัมย์ยังขาดแคลนพยาบาลอยู่ถึง 700 อัตรา มรภ.บุรีรัมย์จึงร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์และจังหวัดเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นพี่เลี้ยง ขณะนี้หลักสูตรผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว ยังเหลือสภาพยาบาลพิจารณา โดยคาดว่าภายในปี 2561-2562 น่าจะสามารถเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ได้ นอกจากนี้ ภาษาอังกฤษก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจาก สกอ.กำหนดให้ผู้ที่ผ่านโครงการพัฒนาครูเพื่อท้องถิ่นและครูคืนถิ่นจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานภาษาอังกฤษด้วยจึงจะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ ในส่วนของ มรภ.บุรีรัมย์ จึงยิ่งเข้มข้นภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยขณะนี้จะต้องเรียนภาษาอังกฤษสำหรับคณะและสำหรับสาขาเฉพาะด้วย ซึ่งเป็นนโยบายมาตั้งแต่ปี 2560 แล้วว่านักศึกษาครูจะต้องอยู่หอพัก เพื่อเราจะได้ติวเข้มภาษาอังกฤษ รวมถึงไอที เพื่อให้สอดรับกับไทยแลนด์ 4.0

Advertisement

“ในส่วนของคณะครุศาสตร์ มรภ.บุรีรัมย์ได้ปรับหลักสูตร โดยเพิ่มเรื่องศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เด็กที่จบออกไปเป็นคนดี เก่ง และมีจิตอาสา ส่วนที่ถามว่าในปี 2561 จะมีสาขาอะไรที่ต้องทบทวนหรือยุบบ้างนั้น ในส่วนของ มรภ.บุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้แต่ละสาขาไปดูจุดอ่อนจุดแข็งเพื่อเสริมให้เด็กมีความรู้มากขึ้น จะได้จบออกไปสามารถเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลาย ฉะนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเสริม หรือเติมความรู้ให้เด็ก แต่ไม่มีการยุบสาขา ยกเว้นระดับบัณฑิตศึกษาคือปริญญาเอกและปริญญาโทที่จะยุบอย่างละหลักสูตร อย่างปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันเราเปิดอยู่ 2 สาขา จะมีการปิด 1 หลักสูตรคือสาขาภาวะผู้นำเพื่อพัฒนาวิชาชีพ โดยทันทีที่นักศึกษาจบหมดแล้วเราจะยุบสาขานี้ทันที ส่วนปริญญาโท จากปัจจุบันที่เปิด 7 หลักสูตร จะยุบสาขายุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการเกษตร เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งขณะนี้เราได้ยุติการเปิดรับนักศึกษาไปแล้ว ทันทีที่นักศึกษาที่เรียนอยู่ในสาขานี้จบหมดแล้ว เราจะยุบสาขานี้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อรักษามาตรฐานตามมาตรฐานใหม่ของ สกอ.

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า การจัดการศึกษาของอุดมศึกษาในปัจจุบัน เราไม่ได้มองในมุมการเรียนในเชิงคณะหรือวิชาชีพเท่านั้น แต่ในอนาคตมหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมออกมาสู่สังคม ไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติในแง่ของความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่จะต้องเป็นบัณฑิตในยุค 4.0 ซึ่งในอนาคตสังคมต้องการคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม ขณะที่องค์ความรู้ที่เรียนจะไม่ใช่องค์ความรู้ที่ตายตัว เป็นองค์ความรู้ที่ต้องมีการผสมผสานทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เช่น คนที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ก็จะต้องเป็นวิศวะที่มีความเข้าใจสังคมมากขึ้น หรือมีความเป็นอารยสถาปัตย์ ซึ่งให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุ จัดสร้างหรือคิดค้นนวัตกรรม อุปกรณ์และพื้นที่ใช้งานให้มีมาตรฐาน สำหรับผู้พิการและด้อยโอกาส เพื่ออำนวยความสะดวก ดังนั้น หลายมหาวิทยาลัยที่สอนแบบเล็กเชอร์จะต้องปรับตัว และถ้าการเรียนการสอนปรับตัว การวัดประเมินผลก็จะต้องปรับตามไปด้วย คือเปลี่ยนจากวัดความจำ ก็จะประเมินได้เฉพาะความจำ แต่ต้องวัดทักษะ ความสามารถในการใช้ฝีมือ เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยที่เน้นวิชาการก็จะต้องเน้นทางปฏิบัติมากขึ้น เป็นความรู้ในเชิงวิทยาการ มีนวัตกรรมในเชิงระบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image