ชี้เหตุ ‘บิ๊กตู่’ ใช้ม.44 ปรับโครงสร้างภูมิภาคศธ.หวังล้างกลุ่มอิทธิพลการศึกษา-การเมืองเก่าแฝง

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการบริหารงานบุคคลและจัดสรรงบฯ ในระดับภูมิภาค, แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ หรือผู้ปฏิบัติงานในตําแหน่งต่างๆ นอกจากนี้ จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) โดยศึกษาธิการจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และยุบเลิกคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา และโอนอํานาจหน้าที่ของทั้ง 2 คณะกรรมการดังกล่าว มาเป็นของ กศจ.ของจังหวัดนั้นๆ นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 มาจัดตั้งเป็นสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 โดยมีศึกษาธิการภาค ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการศธ. และให้จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถือว่ารัฐบาลใช้ยาแรง และเป็นความกล้าตัดสินใจของ พล.อ.ดาว์พงษ์ เพื่อสร้างเอกภาพใน ศธ. เนื่องจากที่ผ่านมา 5 องค์กรหลักต่างคนต่างทำงาน มีปัญหาการโยกย้ายครูแล้วทำอะไรไม่ได้ และในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา จะต้องใช้คำสั่ง ม.44 ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันทีในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกึ่งเผด็จการ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดผลทันที ถือเป็นการปฏิวัติเงียบในศธ. และส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องใช้ ม. 44 อีก เพื่อปรับระบบการทำงานของส่วนกลาง ระบบโรงเรียน รวมถึงองค์การมหาชนบางแห่ง ซึ่งคงมีข่าวใหญ่ตามมาอีกแน่นอน

“การปรับครั้งนี้ กลับไปสู่โครงสร้างเดิมเกือบ 80% ที่ต่างคือ การมีประชารัฐ ให้ภาคเอกชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และให้จังหวัดจัดการตนเอง แต่ผมคิดว่ายังมีสัดส่วนที่น้อย หากอนาคตมีรัฐมนตรีว่าการศธ.ที่มาจากนักการเมือง บอกได้เลยว่า อันตราย อาจเกิดปัญหาวิ่งเต้นโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งสายบังคับบัญชาจากกระทรวง กว่าจะถึงโรงเรียนมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการศธ. ปลัดศธ. ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และโรงเรียน จึงอยากให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ ใช้มาตรา 44 ในช่วงเปลี่ยนผ่าน วางระบบการบริหารบุคคลที่ดี โดยคืนอำนาจให้กับจังหวัดและพื้นที่โดยเร็ว ขณะที่จังหวัดและพื้นที่ ต้องไม่ถูกครอบงำโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องเป็นตัวแทนจากกลุ่มคนที่หลากหลาย ให้มีการจัดการตนเองในจังหวัดอย่างสมบูรณ์” นายสมพงษ์กล่าว

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ไม่ทราบระบบการบริหารงานของศธ.ชัดเจนนัก แต่ที่ผ่านมาก็เคยได้ยินข่าวในเชิงไม่ดีเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษามาบ้าง ดังนั้นหากเปลี่ยนแปลงแล้ว ทำให้ครูและคนส่วนใหญ่รู้สึกพอใจก็เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามทุกองค์กร ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ควรเน้นเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม ส่งเสริมคนดีและคนเก่งให้มีโอกาสเข้ามาทำงาน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจทำให้ภาคเอกชนเกิดความสับสนบ้าง เห็นระบบการบริหารจัดการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ถามความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางหรือไม่ โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลนี้เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้นต้องให้เวลาสร้างความเข้าใจหากเปลี่ยนแล้วดีขึ้น เชื่อว่าไม่นาน สังคมก็จะเกิดความเชื่อมั่น

Advertisement

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ. )มองว่าคำสั่งนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานของศธ. ในจังหวัดต่างๆ ที่จะมีให้กลไกที่คล่องตัวมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของสอศ.จะเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย และที่ผ่านมา เรามีการทำงานที่ใช้กลไกระดับจังหวัดอยู่แล้ว โดยมีคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด(อศจ. ) ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งนี้ออกมา ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยวันที่ 30-31 มีนาคม สอศ.จะเชิญ ประธานอศจ. จังหวัดมาชี้แจง ถึงรายละเอียดและบทบาทในการทำงานร่วมกับคณะกรรมการ กศจ. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การบูรณาการระดับจังหวัดจะทำให้ระบบการส่งต่อผู้เรียนสายสามัญกับสายอาชีพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การที่กรรมการมาจากหลายกลุ่มก็จะเอื้อต่อการที่อาชีวะจะผลิตคนได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น รวมถึงยังสามารถดูแลเด็กออกกลางคันไม่ให้ตกหล่นออกนอกระบบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ “นายชัยพฤกษ์กล่าว

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดศธ. กล่าวว่า ศึกษาธิการภาค จะเป็นผู้กำกับ ศึกษาธิการจังหวัด ดูว่า กศจ.ดำเนินการตามนโยบายของ ศธ.หรือไม่ พร้อมติดตามและกำกับ โดยศึกษาธิการภาค อาจใช้ผู้บริหารระดับสูงของศธ. เช่น ผู้ตรวจราชการ โดยจะเข้าไปเป็นรองประธาน กศจ.ของแต่ะจังหวัด ศึกษาธิการภาค 1 คนเป็นรองประธาน กศจ.ได้ 4-5 จังหวัด ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างจังหวัดในระดับภาคโดยรายงานโดยตรงต่อรัฐมนตรีว่าการศธ. ส่วนเรื่องโครงสร้างจะปรับไม่ยาก จะยึดจากโครงสร้างศึกษาธิการภาคเดิม เป็นศึกษาธิกรภาคใหม่ สำหรับภาคใด ที่ยังไม่มีสำนักงานศึกษาธิการภาค จะใช้สำนักงานของ สพม. ในจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้ สพป.และสพม. ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม ไม่มีการยุบ

Advertisement

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากนี้ สพฐ.จะวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องว่ามีการมอบอำนาจเรื่องการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ ขณะนี้ได้ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ มาช่วยวิเคราะห์ร่วมกัน ส่วนแผนพัฒนายุทธศาสตร์ในการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีปัญหาอะไรเร่งด่วน ก็จะเสนอรัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ทราบต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุผลของการใช้มาตรา 44 ส่วนหนึ่งต้องการล้างผู้มีอิทธิพลกลุ่มผู้แทนการศึกษา ที่จะมีอิทธิพลของกลุ่มการเมืองเก่าแฝงอยู่ โดยเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่ได้หารือกับใครมากนัก แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลักของ ศธ.ก็ไม่ได้พูดคุยหารือ มีการหารือกับทีมงานเพียงไม่กี่คน แล้วเรียกผู้บริหารองค์กรหลักไปรับทราบประมาณ 15 นาที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image