เลขาฯ สกอ.ชี้ ‘ม.เอกชน-มรภ.’ น.ศ.ลดวูบ

 

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวในการบรรยายเรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนวัตกรรมการวิจัยในอุดมศึกษา” ในงานประชุมวิชาการนักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ครั้งที่ 17 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า แม้ไทยจะลงทุนด้านการศึกษามาก แต่คุณภาพจัดการศึกษาของคนไทย และคัดกรองคนยังทำได้ไม่ดีนัก ปัจจุบันเจ้ามือใหญ่ของการดูแลนักศึกษากำลังเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ซึ่งมี 38 แห่ง เคยดูแลนักศึกษาเกือบ 6 แสนคน ขณะนี้เริ่มหดตัวเล็กๆ คนที่ดูแลมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยในกำกับ ที่มีนักศึกษาประมาณ 5.4 แสนคน ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใกล้จะหายไป เป็นสถานการณ์ที่จะเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง มีศูนย์รับนักศึกษาใหม่ไม่ถึง 4% กลุ่มต่อมาคือมหาวิทยาลัยของรัฐในส่วนของ มรภ.

“จำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐปัจจุบันมี 1.78 แสนคน แบ่งเป็น สายวิชาการ 5.98 หมื่นคน และสายสนับสนุน 1.18 แสนคน เราต้องพยายามพัฒนาคุณวุฒิของบุคลากรในสายวิชาการ มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเกือบ 2.8 หมื่นคน และมีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์เพียง 650 คน และมีอาจารย์ที่อยู่ในระหว่างทำตำแหน่งทางวิชาการ 3.82 หมื่นคน ในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า ข้าราชการพลเรือนจะมีอาจารย์รุ่นใหม่เข้ามาน้อยลดลงมาก เพราะจะเปลี่ยนระบบเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทน” ดร.สุภัทร กล่าว

ดร.สุภัทรกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการอุดมศึกษาไทยประการสำคัญคือ กับดักความรู้ และนวัตกรรมของโลกตะวันตก ในกลุ่มประเทศพัฒนาให้ความสำคัญกับการวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนาต่อยอด การออกแบบสร้างสรรค์ การตลาดและการขาย รวมถึง การจัดการ และห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น จึงต้องสร้างเทคโนโลยีด้วยตนเอง และควบคุมการตลาดให้ได้ เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ทักษะ/เทคโนโลยีใหม่ ตามให้ทันสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เรียนรู้นวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาตนเอง และสื่อสารในระดับนานาชาติ ต้องมี 10 ทักษะจาก 6 แรงขับ เพื่อก้าวสู่อนาคต

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image