ศธ.เคาะ 19 สถาบันเปิดสอนอาชีวะพรีเมียม

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ หรืออาชีวะพรีเมียม เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จะเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม 6 สาขาวิชาใน 19 วิทยาลัย ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง เป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียน 3 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) บ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) สุราษฎร์ธานี วท.วาปีปทุม และ วท.ชลบุรี โดยมีกลุ่มวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น วิทยาลัยและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน วิทยาลัยเทคนิคการรถไฟความเร็วสูงหูหนาน และวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เป็นหลักสูตรระดับ ปวส. เรียน 2 ปีครึ่ง เปิดสอนใน 2 วิทยาลัย ได้แก่ วท.พระนครศรีอยุธยา และ วท.มีนบุรี จับคู่กับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย ประเทศจีน

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า สาขาช่างอากาศยาน หลักสูตรระดับ ปวส.เรียน 2 ปีอิงมาตรฐานสากลองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO สอนใน 6 วิทยาลัย ได้แก่ วท.ถลาง วท.สัตหีบ วท.ดอนเมือง วท.สมุทรปราการ วท.อุบลราชธานี และ วท.ขอนแก่น จับคู่ความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือน และสถานประกอบการในประเทศ, สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม หลักสูตร ปวส.เรียน 2 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วท.สมุทรสงคราม วท.สมุทรสาคร วท.สระบุรี และ วท.สุพรรณบุรี จับคู่กับมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี ซึ่งองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี จะดำเนินการคัดเลือกมหาวิทยาลัยให้, สาขาโลจิสติกส์ เปิดสอนระดับ ปวส.เรียน 2 ปีครึ่ง สอนใน 1 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี จับคู่กับ Chongqing City Management College : CCMC ของจีน
นอกจากนี้ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จะมาจับคู่กับ วท.สุรนารี จับคู่กับการสอนสาขา เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และจับคู่กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ชลบุรี สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตร ปวส.เรียน 5 ปีต่อเนื่อง รับเด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนสาขาสุดท้ายคือ สาขาสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ที่จะดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะ

“หลักสูตรอาชีวะพรีเมียมทั้งหมดผู้จบการศึกษาจะได้รับทวิวุฒิ หรือ 2 วุฒิจาก 2 ประเทศ คือ วุฒิการศึกษาจากประเทศไทย และวุฒิการศึกษาจากวิทยาลัยที่มาจับคู่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งผมขอยืนยันว่ากระบวนการเรียนการสอนเด็กจบแล้วสามารถทำงานได้จริง และเป็นเด็กที่มีแนวคิดพัฒนาต่อได้ด้วย มีทักษะการปฏิบัติแบบมืออาชีพ เป็นนานาชาติตอบโจทย์ตลาด อย่างไรก็ตาม จากนี้ทุกวิทยาลัยจะเร่งจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง และกลางเดือนมีนาคมนี้จะนำหลักสูตรที่ปรับปรุงเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พิจารณาและรับรอง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ในส่วนของ สอศ.จะต้องเตรียมจัดทำของบประมาณ เดือนเมษายนนี้ ศธ.จะเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยืนยันว่าทันเปิดภาคเรียนช่วงเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน” นพ.อุดมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image