ถอดรหัส… ‘บิ๊กหนุ่ย’ใช้ยาแรง รวมศูนย์อำนาจ’บริหารครู’

แฟ้มภาพ

คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวม 225 คณะ ถูกยุบโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เกิดองค์กรใหม่ คือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) 77 คณะ

แม้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. ยืนยันว่าการรื้อโครงสร้าง ศธ.ระดับภูมิภาคและจัดทัพใหม่คราวนี้ มุ่งโฟกัสเรื่องขับเคลื่อนการศึกษาให้สัมฤทธิผลใน 1 ปี 6 เดือน ตามกรอบระยะเวลาของรัฐบาล ถึงขั้นที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ยืนกรานว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมือง”

แต่มีข่าวเล็ดลอดมาตั้งแต่วันแรกๆ ว่า เบื้องหลังก็เพื่อสลายระบบหัวคะแนนของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่แฝงตัวเข้ามาอยู่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เขตละ 10 คน ที่ว่ากันว่าเป็นมาเฟียทางการศึกษา เนื่องจากกุมอำนาจบริหารงานบุคคล ให้คุณให้โทษตั้งแต่แต่งตั้ง โยกย้าย ไปจนถึงพิจารณาลงโทษทางวินัย ที่ผ่านมาเกิดปัญหาร้องเรียน วิ่งเต้น เรียกเงินเรียกทองในบางเขตพื้นที่ฯ แต่ส่วนกลางทำอะไรไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ

บริหารในรูปแบบองค์คณะบุคคล

Advertisement

วิเคราะห์โครงสร้างใหม่ โดยส่วนกลาง บริหารในรูปแบบคณะกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และผู้บริหารองค์กรหลักทั้ง 5 องค์กร โดยมีปลัด ศธ.เป็นกรรมการและเลขานุการ

ส่วนภูมิภาค กศจ. มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน และ อกศจ. มี กศจ.ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ กศจ. เป็นประธาน โดยมี ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของทั้ง 2 คณะ

Advertisement

นับเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดและกล้าตัดสินใจของ พล.อ.ดาว์พงษ์ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ให้สัมภาษณ์ว่าจะเป็นโครงสร้างที่ใช้ในระยะสั้นๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมายใน 1 ปี 6 เดือน โดยระหว่างนี้จะมีการกำหนด KPI (ตัวชี้วัด)ในการประเมินการทำงานในระดับต่างๆ ถ้าพบว่าได้ผลดี ก็เป็นเรื่องที่สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโครงสร้างนี้ไปบรรจุไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่หากไม่ดี ก็ค่อยว่ากัน

แต่ถ้าดูจากท่าทีของ พล.อ.ดาว์พงษ์แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดโครงสร้างระดับภูมิภาคดังกล่าวไว้ในกฎหมาย เพราะคำตอบของ พล.อ.ดาว์พงษ์หลายครั้งค่อนข้างมั่นใจว่าสูตรโครงสร้างใหม่ จะแก้ปัญหาบุคลากรและจะขับเคลื่อนงานการศึกษาไปได้เร็วขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ สนช.และ สปท.จะเห็นคล้อยตาม

โครงสร้าง ศธ.ระดับภูมิภาค มีจุดเด่นที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง โดยมีกลไกการลงโทษได้โดยตรง โดยสามารถสั่งให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ หรือผู้ปฏิบัติงาน หยุดการปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ รูปแบบการบริหารสไตล์ซิงเกิลคอมมานด์ จึงต้องอาศัยผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาล ถึงจะขับเคลื่อนองคาพยพได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้าขาดธรรมาภิบาล ก็เป็นช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์ วิ่งเต้น เรียกรับเงินรับทอง โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลและอำนาจไปอยู่กลุ่มนักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์ จะยิ่งสร้างความเลวร้ายให้ระบบการศึกษา

เช่นเดียวกับระดับล่าง ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธาน กศจ. ให้ความสำคัญกับการศึกษา ระบบนี้จะเอื้อให้การกำกับโรงเรียนในทุกสังกัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากผู้ว่าฯ เห็นว่าเป็นเพียงงานฝากและมอบให้รองผู้ว่าฯ เป็นประธานแทน งานการศึกษาก็จะถูกลดระดับ ถูกละเลย กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการขับเคลื่อนงานการศึกษาก็ได้

ส่วน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ช่วงนี้อาจกำลังระส่ำกับความไม่มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง

ผู้บริหารและบุคลากรในเขตพื้นที่ฯ ไม่มั่นใจว่าจะถูกเกลี่ยหรือโยกย้ายไปอยู่ส่วนไหน เนื่องจากโครงสร้างศึกษาธิการภาค รองรับได้แค่ 18 ภาค และศึกษาธิการจังหวัด มีอยู่แค่ 77 จังหวัดเท่านั้น เพราะอาจจะไม่มีอัตรารองรับบุคลากรในเขตพื้นที่ฯ ได้ครบทุกตำแหน่ง ส่วนที่เหลือ ต้นสังกัดก็ต้องเยียวยาเช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างในปี พ.ศ.2547 ที่ปัจจุบันยังเหลือผู้บริหารประมาณ 800 คนที่ได้รับผลกระทบและต้องเยียวยาอยู่

สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา งานจากนี้นับเป็นความท้าทาย เพราะถ้าบริหารผิดพลาด มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทุจริต ขับเคลื่อนไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็สามารถถูกสั่งลงโทษจากคณะกรรมการส่วนกลางที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน

ไม่ต่างจากครู ที่กำลังกังวลกับสถานภาพตัวเองเนื่องจากมีข่าวลือว่าจะมีการยกเลิกวิทยฐานะ การโอนครูไปสังกัด อปท. ซึ่งหลายคนไม่ยินดีที่จะโอนไป เพราะครูกลุ่มหนึ่งที่โอนไปอยู่ในสังกัด อปท. ตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีประสบการณ์ไม่ดีและต้องการย้ายกลับอยู่ในตอนนี้ และที่สำคัญไม่มั่นใจว่า กศจ.จะสามารถบริหารครูและงานการศึกษาไปในทิศทางไหน เพราะคำสั่ง คสช.เกี่ยวกับ กศจ.ยังไม่ชัดเจน

ระบบการกระจายอำนาจที่ใช้มากว่า 10 ปี ก็ยังมีช่องว่างให้กลุ่มเหลือบไรเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากครู ขณะที่การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หากไม่ได้ผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาลสภาพปัญหาก็คงไม่ต่างกัน ซ้ำร้ายก็จะเป็นการกินตั้งแต่ระดับหัวลงมาก็ได้ ดังนั้นประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่การเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้าง แต่อยู่ที่การคัดคนให้ได้ “คนดี” เข้ามาบริหารงานมากกว่า!!

จากนี้จึงต้องจับตาดู พล.อ.ดาว์พงษ์จะวาง “ตัวจริง” และวางกลไกในการป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์จากวงการครูอย่างไร !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image