ถกเข้ม! วงเสวนาชวนตั้งคำถาม สังเกต ปวศ.ผ่านละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ภาพสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมไทย

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “บุพเพสันนิวาส : ภาพสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมไทย” นำเสวนาโดย ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ, ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, นายเศษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา และนายภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับ “บุพเพสันนิวาส” ร่วมพูดคุยถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ผ่านละครย้อนยุคเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยายกาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้คนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ศ.ดร.สุเนตรกล่าวว่า ละคร ทำหน้าที่คล้ายนักประวัติศาสตร์ที่ทำตลอดมาคือ “ฟื้นอดีต” นักประวัติศาสตร์ฟื้นอดีตผ่านตัวอักษร แต่ละครฟื้นอดีตจากการเล่าเรื่องทางภาพ แม้วัตถุประสงค์ในการรื้อฟื้นอดีตจะมีไม่เหมือนกัน การเสวนาวันนี้จึงไม่ใช่การจับผิดละคร แต่เป็นการต่อยอดเพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น วันนี้จะมาตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ เช่น การที่สมเด็จพระนารายณ์ดึงฝรั่งเศสและอังกฤษเพื่อคานอำนาจกับฮอลันดา ในละครภาพของฮอลันดาไม่ผ่านการบอกเล่าของตัวละครต่างๆ หรือชาวจีนในอยุธยามีหน้าที่แค่ตีกระทะและนักเลงคุมซ่องโสเภณีอย่างที่เห็นในละครจริงหรือ กลุ่มชนชาติเเขกที่เห็นในละครอย่างหลวงศรียศ แขกขายผ้าอย่างพ่อของมะลิ แท้จริงแล้วแขกในอยุธยามีกี่กลุ่มกันแน่ จึงชวนมาตั้งคำถามจากละครและมาหาคำตอบกันในวันนี้

ผศ.ดร.ภาวรรณกล่าวว่า ชาวฮอลันดาเข้ามาในอยุธยาในฐานะบริษัทอินเดียตะวันออก (voc) ซึ่งเป็นการค้าของยุโรปที่มายังตะวันออก ถือเป็นการสร้างบริษัทร่วมหุ้นกันแห่งแรกในประวัติศาสตร์โลก ในสมัยอยุธยาความสัมพันธ์ระหว่างฮอลันดากับอยุธยาเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบทั้งรักทั้งชัง สัมพันธ์กันด้านการค้า เปลี่ยนมาเป็นการทูต และเป็นคู่แข่งในเรื่องอำนาจ เกิดการกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 นักผู้ค้า

Advertisement

“ฮอลันดาร้องการผูกขาดการค้าหนังสัตว์กับอยุธยา แต่ไม่สามารถทำได้ อยุธยาสำหรับฮอลันดาคือพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ต่อให้ใช้วิธีทางการทูต หรือสนธิสัญญาก็ตาม ค.ศ.1663-1664 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นคือ ฮอลันดานำเรือติดอาวุธ 2 ลำ มาไล่จี้เรือของอยุธยาที่ขนสินค้ากลับมาจากตะวันออก เพราะเอเชียตะวันออกคือพื้นที่ที่ฮอลันดาหวังจะค้าขายในดินแดนแถบนี้ และเรื่องนี้จบลงด้วยการทำทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฮอลันดาฉบับแรก ในปี ค.ศ.1664 สาระสำคัญคือ ให้สิทธิเสรีภาพกับฮอลันดาในการค้าขาย และสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ผศ.ดร.ภาวรรณกล่าว

ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์กล่าวว่า ชาวแขกในสมัยอยุธยามีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระนารายณ์คือยุคทองของชาวแขก ทั้งนี้ แขกในกรุงเก่ามีคำเรียกหลากหลาย เช่น แขกจาม แขกสลุป แขกเทศ แขกกุศราศ แขกสุรัด แขกเกาะ แขกเก่า แขกตานี แขกพราหมณ์ เป็นต้น

“แล้วเเขกเหล่านี้อยู่ตรงไหนในกรุงศรีอยุธยา กลุ่มแรกคือเเขกจาม มลายู มักกะสัน ซึ่งแขกจามน่าจะเป็นกลุ่มคนแขกเก่าและใหญ่ที่สุดในอยุธยา กลุ่มสอง แขกใหญ่ (เซ็น) แขกเหล่านี้แตกต่างจากแขกกลุ่มอื่นคือนับถือนิกายซูอะ กลุ่มที่สาม พราหมณ์เทศ กลุ่มสี่ แขกแพ ปลูกแพต่อๆ กันในเเม่น้ำเจ้าพระยา ปนสัญชาติกันไปหมด นี่คือแขกเพียงกลุ่มเดียวไม่รวมจีน หรือคนจากชาติพันธุ์อื่น สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่พหุวัฒนธรรมอย่างมาก รวบรวมผู้คนจากหลายเชื้อชาติ โดยแขกเหล่านี้มีความสามารถเรื่องการเดินเรือ ค้าขายเก่ง อยุธยาต้องอาศัยแขกในการเดินเรือค้าขาย ซึ่งราชสำนักสยามยังนำบุคคลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ คือ ‘กรมอาสาจาม’ ทำหน้าที่ในการรบทางเรือ” ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์กล่าว

Advertisement

ด้านนายเศษฐพงษ์ นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ จีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวข้องกันอย่างยาวนาน ชาวจีนในอยุธยามีความหลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าชาวจีนจากราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง หรือชาวจีนฮกเกี้ยน มีการแต่งกาย การพูดที่แตกต่างกัน และการอพยพโยกย้ายของชาวจีนไม่ว่าจะหนีเหตุการณ์ทางการเมือง หนีความยากจน จึงสันนิษฐานว่ามีชาวจีนทุกสาขาวิชาชีพที่อพยพเข้ามาในไทย ชาวจีนจึงไม่ได้มีแค่ช่างตีเหล็กและนักเลงคุมซ่องอย่างที่เห็นในละคร ทั้งนี้ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์พบว่ามีชาวจีนทำอาชีพรับราชการเป็นขุนนาง พ่อค้า กุลี เป็นต้น การมีอยู่ของคนจีนจึงปะปนกับสังคมไทย ซึมซับเข้าไปอยู่ในประเพณีจนเเยกกันยาก

“จีนอยุธยา หรือคนจีนสยาม ความหลายหลากที่อยุธยาให้กับคนจีนคือ จีนที่เข้ามาส่วนใหญ่แสวงหาโอกาสและทางรอด หาชีวิตใหม่ที่มีความอิสระ หาโอกาสที่จะประกอบอาชีพของกลุ่มคนเหล่านี้ สิ่งที่อยุธยาได้กลับมาคือ อาชีพ เทคนิค ศิลปะ อีกทั้งวัฒนธรรมจีนยังเเทรกซึมเข้ากับสังคมไทยอย่างเเยกไม่ได้” นายเศษฐพงษ์กล่าว

ด้านผู้กำกับ “บุพเพสันนิวาส” กล่าวว่า ในการทำละครเรื่องนี้ต้องทำการบ้าน ทำความรู้ความเข้าใจ วางแผนการทำงานเพื่อสร้างละครให้คนดูเกิดความประทำใจ คุยกับนักเขียน คือคุณรอมแพง หาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ซึ่งนิยายเรื่องนี้ที่คุณรอมแพงเขียนค่อนข้างจะมีความละเอียดและมีข้อมูลเยอะมาก อ.เเดง หรือศัลยา สุขะนิวัตติ์ ใช้เวลาเขียนบทนานกว่า 1 ปี ในการถ่ายทำละครต่อมาเกิดคำถามว่าเราสามารถเล่าได้แค่ไหนในประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มเติมให้เรื่องราวดำเนินไปได้ เช่น เรื่องการเมือง ตอนแรกไม่อยากพูดถึง แต่มาคุยกันภายหลังตัดสินใจทำ และอยากให้คนดูตัดสินเองว่าใครถูกผิดเพื่อให้เรื่องเข้มข้น ไม่ใช่มีแต่เรื่องราวของพระเอกนางเอกเท่านั้น

“สำหรับเรื่องนี้ด้วยความที่หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายเชื้อชาติ ในการเข้าร่วมบรรยายวันนี้ทำให้ผมคิดว่า การทำเรื่องบุพเพสันนิวาส ผมสามารถใส่อะไรเข้าไปในละครได้ อย่างตะเกียงจากเปอร์เซีย เตียงที่มาจากจีนของนางเอก เพราะอยุธยาช่วงนั้นคือการรวบรวมความหลากหลายไว้ ซึ่งถ้าเป็นการถ่ายทำละครเชิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่นผมคงไม่กล้าที่จะทำแบบนี้” ผู้กำกับ “บุพเพสันนิวาส” กล่าว

ท้ายสุด ศ.ดร.สุเนตรกล่าวว่า ในละครมีคำถามการเมืองที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันของชายหญิง เป็นการตั้งคำถามกับอดีต มีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางความคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image