ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า มีคุณค่าต่อชาวสูงเนิน เมืองโคราชเก่า

สภาพห้องคลังโบราณวัตถุ อยู่ติดห้องสำนักงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ (อ. เมืองฯ จ. นครราชสีมา) หน้าต่างไม้ มีลูกกรงแน่นหนา จารึกปราสาทเมืองเก่าจัดเก็บบริเวณมุมด้านติดกับหน้าต่างบนพื้นระหว่างชั้นเก็บของปะปนกับชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ในห้องคลังนี้จัดเก็บรักษาโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมโตนเลสาบเขมรอยู่หลายชิ้น จำนวนมากเป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม และมีพระพุทธรูปศิลาสมัยอยุธยาอยู่ราว 2 องค์ นอกจากนี้ยังจัดเก็บอุปกรณ์สำนักงานบางอย่าง [ภาพและคำอธิบายโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า พบเมื่อ พ.ศ.2533 ขณะขุดแต่งปราสาทเมืองเก่า บ้านเมืองเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

กรมศิลปากรจัดเก็บ “ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า” ปะปนกับโบราณวัตถุอื่นในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา แต่ลงทะเบียนผิดพลาดคลาดเคลื่อนเป็น “ศิลาจารึกปราสาทเมืองแขก” เลยถูกทิ้งไว้ไม่มีใครรู้นานเกือบ 30 ปี

ผิดวิสัยอย่างยิ่ง เพราะตามหลักสากลแล้ว ศิลาจารึกต้องดูแลจัดเก็บเป็นพิเศษ ป้องกันการกระทบขีดข่วนถึงตัวอักษร ซึ่งเสี่ยงลบเลือนชำรุดจนอ่านไม่ได้ แต่นี่ทำอย่างชิ้นส่วนศิลาศิวลึงค์โกลนๆ วางตามยถากรรมเหมือนปลัดขิก

ส่งคืนท้องถิ่น

Advertisement

ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า ซึ่งกรมศิลปากรเก็บไว้ในห้องเก็บของที่เรียกคลัง แต่ยังไม่อ่าน ไม่จัดแสดง ไม่แบ่งปันข้อมูลความรู้สู่สาธารณะ จึงควรส่งคืนถิ่นเดิม อ.สูงเนิน อาจจัดแสดงในอาคารชั่วคราว มีให้พิจารณา 2 แห่ง คือ

1. วัดปรางค์เมืองเก่า เป็นที่ตั้งปราสาทซึ่งพบศิลาจารึกฯ หลักนี้

2. โรงเรียนสูงเนิน มีห้องแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์สูงเนินอยู่แล้ว ชื่อ “ห้องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นศรีจนาศะ” และมีครูดูแลประจำเอาใจใส่จริงจังเรื่องท้องถิ่น

Advertisement

การจัดแสดงชั่วคราว ต้องมีคำอธิบายย่อเกี่ยวกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่น เช่น

(1.) บ้านเมืองเก่า (2.) ปราสาทเมืองเก่า (3.) ข้อความในศิลาจารึก (4.) เมืองเสมา(5.) เมืองราด (6.) พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ฯลฯ

นักโบราณคดีในกรมศิลปากร มีประสบการณ์พบเห็นมามากจนชาชินเหมือนของไร้ค่า แต่กับจารึก “อโรคยาศาล” ของชัยวรมันที่ 7 หลักนี้มีค่ามหาศาลต่อสำนึกคนท้องถิ่นที่รักบ้านเกิดเมืองนอนของตน

กรุณาอย่าประเมินท้องถิ่นมีค่าต่ำต้อยเหมือนเคยทำเป็นกิจวัตรต่อท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วไป

ยากเยียวยาระบบทะเบียน

ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า เป็นพยานความหละหลวมของกรมศิลปากรในการทำงานทางพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี แสดงว่าโบราณวัตถุจำนวนไม่น้อยถูกปล่อยปละละเลย และอาจถึงขั้นสูญหายโดยไม่มีใครรู้ แล้วถูกทำให้ลืมๆ กันไป

ทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศหละหลวมอย่างยิ่ง ไม่น้อยกว่า 50 ปีมาแล้ว (ไม่ใช่เพิ่งพบคราวนี้) นับแต่มีการปรับปรุงการจัดแสดงทันสมัยเป็นแบบสากล แล้วมีพิธีเปิดครั้งใหญ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2510

การโยกย้ายโบราณวัตถุจากแบบเก่าเพื่อจัดแสดงใหม่ แล้วบางส่วนเก็บเข้าคลัง แต่ทะเบียนหละหลวม จึงมีของสูญหายจำนวนมาก เป็นข่าวใหญ่ในสื่อสมัยนั้น มีข้าราชการถูกลงโทษหลายคน (ผมเคยทำข่าวเรื่องเหล่านี้บ้าง ครั้งคดียืดเยื้อถึงหลัง 14 ตุลา 2516 ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน แต่ลืมไปแล้วไม่น้อยว่าใครบ้าง?)

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนในกรมศิลปากรที่เคยบริหารงานพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี พูดตรงกันตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ว่าระบบหละหลวมอย่างยิ่งยวด จนยากจะเยียวยาแก้ไขงานทะเบียนโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกระดับมัก “ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี” ไม่มีคนเอาใจใส่ทำงานจริงจังด้านทะเบียนโบราณวัตถุ

ถึงอย่างไรก็ต้องแก้ไข เพียงแต่ยังหาทางไปไม่พบ ได้แต่หวังว่าต้องพบทางสว่างสักวันข้างหน้า แม้ยากยิ่งก็ไม่ควรสิ้นหวัง

สื่อมวลชนไทยเข้าไม่ถึงงานสำคัญด้านทะเบียนโบราณวัตถุเหล่านี้ แม้ชี้เบาะแสก็ไม่ใส่ใจ จึงไม่เห็นหรือมองข้ามไปเห็นอย่างชื่นชมแต่ผักชีแต่งชุดไทยใส่โจงเขมร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image