ตามรอยบ้าน‘ฟอลคอน’สุดอลังกาล!พบขวดไวน์-เตาอบขนมท้าวทองกีบม้า

เมื่อวันที่ 6 เมษายน นายเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เมื่อปี 2531 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้วตนได้เป็นหัวหน้าโครงการบูรณะโบราณสถานลพบุรี ซึ่งได้มีการบูรณะบ้านวิชาเยนทร์  บ้านของคอนสแตนติน ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางต่างชาติ ที่มีชื่อเสียงในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยนั้นพระองค์โปรดให้ย้ายมาสร้างเมืองลพบุรี เป็นราชธานีแห่งที่สองรองจากอยุธยา

“การก่อสร้างบ้านหลังนี้แตกต่างจากบ้านของชาวบ้านหรือขุนนางชาวกรุศรีอยุธยาโดยทั่วไป ซึ่งนิยมสร้างด้วยไม้ มีเฉพาะวัดและวังเท่านั้น ที่จะจัดสร้างเป็นอาคารถาวร ก่อด้วยอิฐ ยกเว้นบ้านของฟอลคอน ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทานที่พักอาศัยให้ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต ลักษณะสถาปัตยกรรมโดยส่วนรวมแล้วเป็นศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ ผสมกับศิลปะไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์บางส่วน ตัวอาคารใหญ่ก่ออิฐ 2 ชั้น ด้านล่างลึกลงไปกว่า 2 เมตรเป็นชั้นใต้ดิน ขุดค้นพบขวดไวน์ ซึ่งเป็นขวดไวน์รูปแบบตะวันตก พระพุทธรูป ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะญี่ปุ่นผสม จึงสันนิษฐานไปถึงท้าวทองกีบม้าหรือมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา หรือนางมารี กีมาร์ ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ซี่งมีเชื่อสายญี่ปุ่นผสม” นายเอนกกล่าว

นายเอนกกล่าวว่า ด้านหลังตัวอาคารมีห้องครัวเป็นเตาอบขนมปัง โครงสร้างบ้านออกแบบให้คนตะวันตกอยู่อาศัย ตัวอาคารที่ใหญ่พอๆ กับพระราชวังของเจ้านาย ในช่วงที่ขุดค้นแม้จะมีความรกร้างบ้างจากสภาพความเก่าแก่ แต่ผนังและอาคารโดยรอบยังมีความแข็งแรง สามารถนำโครงสร้างที่ยังอยู่ในปัจจุบันมาจำลอง เป็นโมเดลให้เห็นรูปแบบความอลังการได้ค่อนข้างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าฟอลคอน ได้รับการยกฐานะให้เป็นคนสำคัญ เทียบเท่ากับเจ้านาย ความยิ่งใหญ่ของฟอลคอน สันนิษฐานว่าเพราะสมเด็จพระนาราย์ นิยมชมชอบความเก่งของฟอลคอน ซึ่งสามารถพูดภาษาตะวันตก และสามารถเคลียร์กับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาที่กรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก เพราะสมเด็จพระนารายณ์ เองมีกุศโลบายด้านการทูตที่ไม่อยากเพลี่ยงพล้ำ

Advertisement

“จากการสันนิษฐาน การสร้างบ้านวิชาเยนทร์ น่าจะมีการวางแผนมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะในสมัยนั้นเหมือนเป็นวังเล็กๆ วังหนึ่ง แต่อยู่นอกกำแพงวังนารายณ์ ห่างวังนาราย์ไม่เกิน 100 เมตร คิดว่า สมเด็จพระนารายณ์ให้ความสำคัญกับฟอลคอนมาก หากจะให้เข้าไปอยู่ในรั้ววังก็ไม่ได้ เพราะไม่มีธรรมเนียม ดังนั้นจึงให้อยู่ข้างนอกแต่ให้ใกล้ที่สุด เหตุผลหนึ่งเพื่อให้ฟอลคอนอยู่ใกล้  อีกเหตุผลคือใช้รับรองราชทูตประเทศต่างๆ เพราะสามรถเดินเชื่อมเข้าวังนาราย์ได้ไม่ไกลกัน”นายเอนกกล่าว

Advertisement

นายเอนกกล่าว ว่า สำหรับหลักฐานจากการขุดค้นพบ เช่น ภาชนะดินเผาและเศษภาชนะดินเผา ตะคัน เบี้ย ประติมากรรมเป็นรูปบุคคลจูงลิง ฝาจุกภาชนะเป็นรูปสิงห์โต นก กระต่าย วัว ช้าง เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี อายุราว 1,200-1,300 ปี ประเภทโลหะ ได้แก่ตุ้มหู ชิ้นส่วนโลหะสำริด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image