เปิด…คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ปลดล็อก’ย้าย-สอบ’ บิ๊กร.ร.

ปลดล็อคไปได้เปราะหนึ่ง กับปัญหาการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว24/2560 หลังศาลปกครองอุบลราชธานี วินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานีที่สั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อ 10 และ ข้อ 11 ของ ว24/2560 กรณีที่ศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำสั่งในคดีดำหมายเลขที่ บ.75/2560 ระหว่างนายเฉลิมเกียรติ  แก้วกนก ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุดที่ ศธ 0206.4/ ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

โดยศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ดังกล่าว ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกคำขอขอผู้ฟ้องคดี โดยให้เหตุผล สรุปได้ ดังนี้

1.แม้ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การย้ายโดยอาศัยจังหวัดและขนาดสถานศึกษาเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์โดยรวมแล้วมิได้มุ่งประสงค์ที่จะยึดเอาแต่เขตจังหวัดหรือสถานศึกษาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาแต่เพียงอย่างเดียว

2.การให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)ทำหน้าที่แทนคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา บริบทในการบริหารงานบุคคลจึงเปลี่ยนแปลงไป ก.ค.ศ.ย่อมมีอำนาจที่จะทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปได้

Advertisement

3.ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่ ก.ค.ศ. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ

4.เมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ที่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับจากคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว มีผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ. สามารถดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ.ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ ว 24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ต่อไปได้

ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธานครั้งล่าสุด จึงมีมติให้ยกเลิกมติชะลอการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ.และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์ ว 24/2560 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ซึ่งในวันที่มีมติให้มีการชะลอการย้ายฯ นั้น ได้มีการดำเนินการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 กรณี ได้แก่

Advertisement

1.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว และได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษา ตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว จำนวน 17 จังหวัด คือ จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง นครราชสีมา  นนทบุรี น่าน  บุรีรัมย์ ปทุมธานี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และอำนาจเจริญ

2.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษาตามคำสั่งดังกล่าว จำนวน 5 จังหวัด คือ นครสวรรค์  ลพบุรี ลำพูน สระแก้ว และอุทัยธานี

3.กรณีที่ กศจ.พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ออกคำสั่ง จำนวน 18 จังหวัด คือ กระบี่ กำแพงเพชร  เชียงใหม่ ตาก นครนายก พัทลุง พิจิตร  เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม  มุกดาหาร  ลำปาง สกลนคร  สมุทรปราการ  สิงห์บุรี สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์

4.กรณีที่คณะอนุกรรมการคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(อกศจ.)พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่นำเสนอ กศจ. จำนวน 16 จังหวัด คือ กาญจนบุรี  ชลบุรี นครปฐม นครพนม นราธิวาส  บึงกาฬ ปราจีนบุรี  ปัตตานี พะเยา  ภูเก็ต  แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สงขลา สมุทรสาคร และสระบุรี

5.กรณีที่กลั่นกรองการย้ายแล้ว แต่ยังไม่เสนอ อกศจ. และกศจ. จำนวน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ตราด พิษณุโลก เลย

และ 6. กรณีที่ยังไม่ดำเนินการใด ๆ จำนวน 12 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา  นครศรีธรรมราช  อยุธยา  พังงา  ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย  สุราษฎร์ธานี  หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี

ทั้งนี้ มีจังหวัดที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลการดำเนินการ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และหนองคาย

ทั้งนี้เมื่อได้ตำแหน่งสุดท้ายจากการย้ายเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้  สพฐ. จะต้องดำเนินการจัดสอบผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งทั้งสองตำแหน่ง กำลังเกิดปัญหาอย่างหนัก เพราะมีหลายโรงเรียนต้องร้างผู้บริหาร ต้องให้รองผู้อำนวยการโรงเรียน หรือให้ผู้อำนวยการโรงเรียนใกล้เคียงมานั่งรักษาการแทน ทำให้กระทบต่อคุณภาพการศึกษา โดยขณะนี้ขาดผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนอีกกว่า 7,000  อัตรา

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาครั้งนี้เหมือนยก “ภูเขาออกจากอก” ก.ค.ศ. และสพฐ.  ทำให้สามารถเดินเครื่อง แก้ปัญหาที่ค้างคามานานเกือบ 2 ปีได้  โดยที่ไม่ต้องไปจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงล่วงละเมิดคำสั่งศาลแล้ว ยังอาจจะถูกฟ้องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกไม่น้อย

จากนี้ต้องจับตาดูว่า หลังการย้ายเรียบร้อยแล้ว จะเหลือที่นั่งว่างสำหรับจัดสอบผู้บริหารโรงเรียนว่างอยู่กี่อัตรา และหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาของสพฐ. จะมีการปรับใหม่อีกหรือไม่ แต่สิ่งที่ก.ค.ศ. และสพฐ. ต้องคิดให้หนักคือ การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องไม่ขัดกฎหมาย หรือส่อแววว่าจะไปกระทบสิทธิให้เกิดการฟ้องร้องให้เรื่องยืดเยื้อไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image