‘ศมส.’ร่วมฟื้นวิถีชุมชนมอญเจ็ดริ้วหนุนสร้างศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมชาวมอญ

นายเอนก สีหามาตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.)  เปิดเผยว่า ในการประชุมแนวทางการฟื้นฟูวัฒนธรรมมอญเจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยอัตลักษณ์มอญเจ็ดริ้ว เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรม ภายใต้ชุดโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนชาติพันธุ์บริเวณลุ่มแม่น้ำภาคตะวันตก (ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรี) ปีที่ 1 โดยการสนับสนุน ของ ศมส. ซึ่งเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาวไทย เชื้อสายมอญ หรือ มอญเจ็ดริ้ว เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มเยาวชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มชาวมอญเจ็ดริ้ว เป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยในภาพรวม มีจุดเด่นของการสืบทอดภาษา วัฒนธรรม และประเพณีมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง และเป็นที่รับรู้ในระดับจังหวัด  อีกทั้ง มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ

นายเอนก กล่าวต่อว่า   ขณะเดียวกันผู้แทนชุมชนมอญเจ็ดริ้วในพื้นที่ศึกษา ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า  แม้ว่าการสืบทอดวัฒนธรรมของชาวมอญเจ็ดริ้วในภาพรวมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ ต่อการส่งเสริมและฟื้นฟูวัฒนธรรมมอญเจ็ดริ้ว คือ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ เด็กและเยาวชน ไม่สนใจถึงการสานต่อวัฒนธรรม  ไม่สนใจศึกษา และสนทนาภาษามอญ มีเพียงกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ และคนวัยกลางคนเท่านั้นที่จะรักษาความดั้งเดิมของวิถีชาวมอญเอาไว้  ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ยังออกนอกพื้นที่ไปหางานต่างถิ่น ทำให้ขาดการรวมตัวรวมกลุ่มของชาวบ้านในช่วงอายุที่ต่างกัน  จนบางบ้านคนในครอบครัวขาดการปฏิสัมพันธ์กัน  นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงการจัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้วิถี วัฒนธรรมของชาวมอญอย่างรอบด้าน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิพระครูสาครกิจโกศล (จ้อน วรุโณ) หรือหลวงปู่จ้อน ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านได้เสนอโครงการเพื่อของบประมาณไปทางจังหวัด แต่ก็เงียบเฉย ไม่ได้รับการสนับสนุน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศมส. กล่าวว่า  ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ชุมชนมีความต้องการให้วัฒนธรรมมอญเจ็ดริ้ว มีการสืบทอด และมีแนวคิดให้ชุมชนมอญเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต  ดังนั้นกระบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาวมอญเจ็ดริ้ว  จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม รวมทั้งสร้างเยาวชนให้เข้ามามีบทบาทในการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และความเชื่อจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน  ขณะที่ ศมส. พร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้ข้อมูลเชิงวิชาการ และงานวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์มอญ เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมมอญเจ็ดริ้ว พร้อมทั้งร่วมจัดกิจกรรมที่จะช่วยต่อยอดในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม   เพื่อให้มีการฟื้นงานฝีมือ ดนตรี และมีการแสดงช่วงเสาร์อาทิตย์ รวมถึงสนับสนุนการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image