‘พิเชฐ’ แนะใช้ ‘ดิจิทัล’ ปฏิรูปศึกษา ‘หมอจรัส’ รับลูกเล็งใส่ในร่าง พ.ร.บ.

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังจากการประชุม อภิปรายแนวทางการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า นอกจากประชุมกับ กอปศ.เรื่องของการศึกษาออนไลน์แล้ว ตนยังให้ภาพกว้างเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลกับ กอปศ.เพื่อให้เข้าใจบริบทการพัฒนาดิจิทัลของไทย และนำไปใช้ประกอบการคิดออกแบบ ปรับปรุงระบบการศึกษาโดยเอาดิจิทัลมาประยุกต์ใช้

นายพิเชฐกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ภาพกว้างของการใช้ดิจิทัลมี 5 ด้าน ซึ่งทั้ง 5 ด้านนี้เมื่อนำมาบวกกัน จะเห็นภาพสังคมที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และ กอปศ.สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ 1.การวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับประเทศ ซึ่งประกอบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ดังนั้น การใช้ดิจิทัลถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งโดยอาศัยเทคโนโลยี อีกทั้ง สามารถใช้ประโยชน์การศึกษาด้านอื่นได้อีก 2.คน หรือกำลังคน จะทำให้คนรู้จักดิจิทัลได้อย่างไร และจะทำให้ระบบการศึกษาใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร 3.Big Data ภายในภาครัฐ โดยเสนอให้ ศธ.เริ่มจัดทำ จัดระเบียบข้อมูล นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้ในการวางแผน ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหนเพื่อพัฒนาต่อไป 4.การพัฒนา เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี เสนอให้เน้นในสถานศึกษา ควรจะสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยให้เด็กคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมเป็นของตน และ 5.Cyber Security หรือการดูแลความปลอดภัยทางเทคโนโลยี นอกจากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ศธ.จะต้องดูแลความปลอดภัยทางเทคโนโลยีด้วย
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ.กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาโดยการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะดิจิทัลสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำ และปัญหาการด้อยคุณภาพทางการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศได้ และจากการประชุมหารือร่วมกัน นายพิเชฐได้ให้ตัวอย่างแนวทาง และขอบเขตการใช้ดิจิทัล เพื่อประยุกต์ใช้กับการปฏิรูปการศึกษา

“กอปศ.ถือว่าข้อมูลที่ได้วันนี้มีประโยชน์มาก มีข้อคิด และคำแนะนำจากนายพิเชฐ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา การมีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน กว้างขวาง เพื่อใช้ในการวางนโยบาย และวิธีปฏิบัติ หรือความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่จะจัดทำให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน” นพ.จรัส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในที่ประชุมดังกล่าวได้หารือกันถึงประเด็นการพัฒนาปฏิรูปการศึกษาที่ต้องคำนึงถึงผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาศด้วย โดย นพ.จรัส กล่าวว่า กรณีคนพิการ การใช้ระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการข้ามพ้นความยุ่งยาก และความลำบาก ถือเป็นโอกาสมากกว่าข้อจำกัด คนตาบอด หรือหูหนวก จะเกิดโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น เพราะความคล่องตัวด้วยการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ขณะที่นายพิเชฐ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าคนพิการต้องการอะไร แต่เรื่องการเรียนรู้จะต้องให้ ศธ.เป็นผู้ดูแล ส่วนกระทรวงดีอีจะเป็นผู้ช่วยว่าดิจิทัลจะช่วยทำให้ผู้พิการมีอาชีพได้อย่างไร ใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร มีความสะดวกสบาย มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยระบบดิจิทัลได้อย่างไร นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้ ศธ.และกระทรวงดีอี มีคณะทำงานร่วมกันเพื่อวางรากฐานการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีความเห็นในทิศทางสอดคล้องกัน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image