มม.ใต้ร่ม’นพ.บรรจง มไหสวริยะ’ ชู 4 ยุทธศาสตร์ สร้างแบรนด์’มหิดล’สู่สากล

หมายเหตุ มติชน – นพ.บรรจง มไหสวริยะ  รับตำแหน่งรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) แทนนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. อดีตอธิการบดีมม. ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน  โดยนพ.บรรจงถือเป็นหนึ่งใน 13 รองอธิการบดี สมัยนพ.อุดม เป็นอธิการบดี ที่ลาออกเพราะไม่ต้องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  เมื่อได้รับเลือกจากสภามม. ให้มารับไม้ต่อเป็นอธิการบดีมม. จึงเป็นที่จับตา ทั้งเรื่องการบริหารงานและทีมรองอธิการบดีที่ต้องเดินตามกติกาใหม่ จะเป็นอย่างไรต่อไป

‘มติชน’ถือโอกาสจับเข่าคุยประเด็นร้อนพร้อมยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่หลายมหาวิทยาลัยต่างเร่งปรับตัวเพื่อผลิตบัณฑิตและสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ  เพื่อค้นหาคำตอบว่า ‘มหิดล’ ภายใต้การกุมบังเหียนของ นพ.บรรจงจะเป็นไปในทิศทางใด

นโยบายและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนมม.

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า บริบทของมหาวิทยาลัย มีไว้เพื่อจะตอบโจทย์อะไรของประเทศ ในส่วนของมม. มีผลผลิตที่สำคัญ 2  ส่วน คือ การสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม งานวิจัย ซึ่งจะต้องเข้าใจอนาคต และการอยู่ร่วมกันในสังคมทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก อีกส่วนหนึ่ง คือการสร้างคน เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ  การสร้างคนเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ การสร้างคนเพื่อเป็นผู้นำ ซึ่งคนจะต้องมีทั้งองค์ความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งการขับเคลื่อนองค์กร การทำงานเป็นทีม การต่อยอดองค์ความรู้  รวมถึงต้องมีทักษะในการสื่อสารกับคน และชาวโลกได้  มีพื้นฐานความรู้ที่ทั้งรู้ลึก  รู้กว้าง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตนวัตกรรม เทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง ลดการนำเข้า ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีโรงงานที่ผลิตรถยนต์  ที่ใช้พลังงานน้ำมัน และมีการริเริ่มที่จะใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งต้นคิดไม่ได้เกิดจากประเทศไทย เราอาจริเริ่มคิดค้นนวัตกรรม ผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานแม่เหล็ก ให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ไม่ใช่ฐานการผลิตเฉพาะชิ้นส่วน อะไหล่ เช่นปัจจุบัน  ตรงนี้ต้องทำในลักษณะการเปลี่ยนผ่านองค์ความรู้ สร้างทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต

Advertisement

การสร้างองค์ความรู้และการสร้างคนถูกนำมาเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ พัฒนาคนเพื่อสร้างงานวิจัยทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงให้บริการทางวิชาการ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าไปดูยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ จัดการเรียนการสร้างวิจัย บริหารทางวิชาการและส่งเสริมสนับสนุน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กำหนด

มม. โดยสภา มม.กำหนดแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยไว้ 4 ยุทธศาสตร์  คือ 1. Global Research and Innovation วัตถุประสงค์เพื่อให้มม.ก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อให้มีงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลกระทบระดับสากล และเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการที่สนับสนุนงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ยุทธศาสตร์ที่ 2. Academic and Entrepreneurial Education วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและหลักสูตรที่มีความหลากหลายตรงตามความต้องการของผู้เรียนและเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นพลเมืองที่มีความสามารถระดับโลก

Advertisement

ยุทธศาสตร์ที่ 3. Policy and Leaders in Professional / Academic Services วัตถุประสงค์เพื่อเป็นผู้นำด้านสุขภาวะเชิงนโยบายระดับชาติ และนานาชาติที่สามารถชี้นำสังคมได้  เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นเลิศในระดับภูมิภาคในด้านศูนย์บริการวิชาการ  ศูนย์บริการสุขภาพ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์ด้านยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์

ยุทธศาสตร์ที่ 4. Management for Self-Sufficiency and Sustainable  Organization วัตถุประสงค์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง เพื่อให้มีระบบงานและโครงสร้างที่ตอบสนองต่อพันธกิจหลักและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีศักยภาพตอบสนองต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย  เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็น Digital University และเพื่อสร้างแบรนด์ ‘มหิดล’ ในระดับสากล

๐มม.ปรับตัวหรือวางแผนบริหารงานอย่างไร

การดำเนินการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องแค่พลิกฝ่ามือ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความตระหนักรู้ เราหยุดนิ่งไม่ได้ โลกหมุนไปข้างหน้า เทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลง โดยแนวคิดของผมจะยึดหลัก A-E-I-O-U ซึ่ง A -Awareness  คือ การตระหนักรู้  E-Education ให้การศึกษาและพัฒนา  I-Information ให้ข่าวสาร ทันเหตุการณ์รอบด้าน O-Operation System การจัดการ ให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น และ U-Uplift  ยกระดับขึ้นพร้อมกันทั้งองค์กร ทั้งหมดนี้ต่อยอดมาจากหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งการจะทำสิ่งใดให้เกิดผล ต้องสร้างการตระหนักรู้ ให้การสนับสนุน สร้างองค์ความรู้สามารถทำสิ่งต่าง ๆให้ประสบความสำเร็จได้  ซึ่งหากพูดถึงการเรียนการสอนของมม.มีการปรับปรุง จากการเรียนโดยใช้อาจารย์เป็นศูนย์กลาง อาจารย์เป็นผู้สอนเนื้อหา มาเป็นเน้นหลักสูตรที่ให้ผู้เรียน ได้ปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการของแต่ละสาขาวิชาชีพ ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด เช่น แพทย์ ทำงานในโรงพยาบาล วิศวกรทำงานในโรงงาน สาขาสังคมศาสตร์ก็ทำงานร่วมกับชุมชน ในลักษณะวิจัยชุมชน เป็นต้น

ส่วนอาจารย์ผู้สอนก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพราะเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักศึกษาสามารถค้นคว้าความรู้ได้เองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แต่ที่อาจารย์มีอยู่และยังมีความจำเป็นคือ ทักษะและประสบการณ์ของอาจารย์ที่จะถ่ายทอดให้กับนักศึกษา ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ต้องเรียนรู้พร้อมกับนักศึกษา เพราะโลกอนาคตต้องการทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา ส่วนอาจารย์ก็สามารถเข้าไปทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้อาจารย์ สามารถเข้าไปทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชนได้ โดยสามารถคิดเป็นเวลาการทำงาน อีกทั้งผลงานวิจัยก็สามารถเสนอขอผลงานทางวิชาการได้ด้วย  โดยจะต้องมีข้อตกลงกัน เกี่ยวกับผลวิจัยที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนที่ชัดเจน ส่วนทางสายสังคม ทาง สกอ. ได้ปลดล็อกให้ผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สามารถนำมาใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการได้ ซึ่งหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้การสนับสนุนอาจารย์  ขณะที่คณะต่างๆ จะต้องรู้ทิศทางการสร้างงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์ของประเทศด้วย

๐หลายมหาวิทยาลัยต้องปิดบางหลักสูตรโดยเฉพาะสาขาด้านสังคมศาสตร์เพราะจำนวนเด็กลดลง

มม.ยังได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยจะเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก เช่น แพทยศาสตร์  ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ยังมีความต้องการสูง และถือว่าเป็นสาขาขาดแคลนส่วนหลักสูตรด้านสังคมศาสตร์ของมม. ส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี แต่จะเปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ดังนั้นหากเปรียบเทียบตามลำดับการได้รับผลกระทบกรณีที่อัตราการเกิดลดลง การเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะได้รับผลก่อน ถัดมาคืออุดมศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เท่ากับว่าในอนาคต มม.คงได้รับผลกระทบอยู่บ้างแต่ยังไม่ใช่ในระยะอันใกล้และเรายังมีเวลาปรับตัว

๐คาดหวังอะไรกับกระทรวงการอุดมศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้น

คิดว่าจะทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวมากขึ้นเพราะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความแตกต่างกับอุดมศึกษา อุดมศึกษาต้องมีความคล่องตัว สามารถบริหารจัดการได้รวดเร็ว เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

๐การบริหารงานภายในมม.มีปัญหาหรือไม่ เห็นว่ายังมีปัญหาร้องเรียนอยู่

ผมไม่อยากให้นำเรื่องนี้เข้ามาเป็นประเด็น ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย และสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการชี้แจง แต่ยืนยันว่าระหว่างที่นั่งรักษาการอธิการบดีมม. ผมสามารถบริหารงานได้เต็มที่ 100% ไม่มีผลกระทบ ส่วนปัญหาการยื่นบัญชีทรัพย์สินทีมรองอธิการบดี ที่ผมเลือกเข้ามาทำงาน พร้อมยื่นบัญชีทรัพย์สินตามขั้นตอนกฎหมายและคนที่ผมเลือกเข้ามาเขารู้กติกาใหม่เป็นอย่างดี ต่างจากช่วงที่ผ่านมากติกาที่ให้รองอธิการบดียื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งทุกคนในขณะนั้นต้องการเวลาที่จะศึกษารายละเอียด

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image