ถก ‘บุพเพฯกับความรู้ทางประวัติศาสตร์’ ทำไม? ไม่ปรากฎในตำราเรียน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายธงทอง จันทรางศุ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “บุพเพสันนิวาสกับความรู้ทางประวัติศาสตร์” ว่า เมื่อพูดถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า 400 ปี คำถามคือแล้วอยุธยาอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือไม่ เพราะปัจจุบันการเรียนประวัติศาสตร์อยุธยา พูดถึงแค่ประเทศเพื่อบ้านอย่างพม่า และลาว เป็นเรื่องของการรบ ศึกสงคราม และเรื่องของราชวงศ์เท่านั้น ไม่มีใครตั้งคำถามว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีประวัติศาสตร์อย่างไร อีกทั้ง ไม่มีภาพวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณว่าเป็นอย่างไร การดำรงชีวิต และอาชีพของผู้คนในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏอยู่ในบทเรียนเลย แต่คนไทยกลับเห็นเรื่องราวเหล่านี้ผ่านการดูละครบุพเพสันนิวาส

“การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ปัจจุบันต้องเปลี่ยนไปด้วย ต้องตั้งคำถามว่าการเรียนประวัติศาสตร์เป้าหมายคืออะไร ในอดีตเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้รักชาติบ้านเมือง การเรียนจึงเป็นเรื่องของการรักษาเอกราช เรื่องราวของราชวงศ์ แต่ปัจจุบันเราอยู่ในเวลาที่ต้องตอบว่าจะใช้ประวัติศาสตร์บอกอะไรกับสังคม ตราบใดที่นักเรียนไทยยังคงเรียนหลักสูตรเดิม จะไม่เกิดการบรูณาการทางความรู้ ดังนั้น ควรต้องจัดเตรียมหลักสูตรให้เป็นไปตามยุคสมัย เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลง และมีพัฒนาการตลอด” นายธงทอง กล่าว

นายธงทองกล่าวต่อว่า ส่วนวิธีการเรียนการสอนต้องพัฒนา อย่าคิดว่าเป็นหน้าที่ของครูเท่านั้นที่สอนประวัติศาสตร์ ต้องตั้งคำถามว่าครูเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน เพราะวิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องความจำ อย่างจำ พ.ศ.และเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น ดังนั้น การสอนประวัติศาสตร์ ครูผู้สอน ต้องมีความเข้าใจ มีความสามารถที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้ จึงเสนอให้ฝึกสอนครูให้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ความรู้มากพอ สิ่งเหล่านี้ถ้าสามารถสอน หรือทำได้ จะทำให้คนไทยมีใจเปิดกว้าง มองเห็นโลกความเป็นจริงมากขึ้นผ่านการศึกษาทางประวัติศาสตร์

Advertisement

นายระวี สัจจโสภณ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การค้นคว้าเรื่องการศึกษาในสมัยอยุธยานั้น หลักฐานค่อนข้างมีจำกัด และไม่ชัดเจนมากนัก เบื้องต้นการศึกษาของอยุธยาปรากฏอยู่ในวรรณคดี เช่น ขุนช้างชุนแผน สุบินกุมาร จิดามณี เป็นต้น การเรียนรู้ในอยุธยาส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ลองผิดลองถูก หรือครูพักลักจำ และโอกาสทางการศึกษาในบริบทสังคมอยุธยาแบ่งไปตามชนชั้น เช่น การศึกษาของชนชั้นสูง พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และลูกหลานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และการศึกษาของราษฎรทั่วไปอยู่ที่วัด ซึ่งชายจะได้รับการศึกษาจากพระ ส่วนหญิงส่วนน้อยมีโอกาสเขียนอ่าน ส่วนมากจะศึกษาวิชาการบ้านการเรือน ดังนั้น สมัยอยุธยามีสถานศึกษาเบื้องต้น คือ บ้าน วัด สำนักราชบัณฑิต ราชสำนัก และโรงเรียนมิชชันนารี

“จินดามณีเป็นหนังสือที่สันนิษฐานว่าเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย มีเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นฐานด้านอักขรวิทยา การประพันธ์บทร้อยกรองประเภทต่างๆ เขียนโดยพระโหราธิบดี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแบบเรียนของผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือผู้ที่ฝักใฝ่ในเชิงกวี มากกว่าแบบเรียนเขียนอ่านทั่วไป” นายระวี กล่าว

Advertisement

นายวัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม กล่าวว่า การเปิดรับทุกองค์ความรู้จากต่างประเทศ ส่งผลให้ สมเด็จพระนารายณ์เป็นมหาราชองค์สำคัญของไทย เช่น การจัดการปัญหาด้านการเมืองที่โยงเข้าสู่ความั่นคงของอยุธยา สืบเนื่องจากมีโรงเรียนของชาวต่างประเทศเข้ามาในอยุธยา ทำให้เกิดปัญหาว่าหากอยุธยาไม่มีองค์ความรู้ไปต่อต้านองค์ความรู้ของต่างชาติจะทำอย่างไร จึงเกิดการเขียนจินดามณี อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาของสมเด็จพระนารายณ์คือ ปัญหาการจัดการศาสนา อย่างข้อเสนอการนับถือศาสนาของชาวต่างชาติ โดยการเปิดรับทุกศาสนาให้เผยแผ่ในอยุธยาได้ ถือเป็นการเปิดโลก และทำให้วิทยาการความรู้ของอยุธยาเปิดกว้างขึ้น

นายจุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มุสลิมชาวเปอร์เซีย หรือชาวอิหร่าน เป็นกลุ่มคนที่ชาวสยามติดต่อสัมพันธ์กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาชาวเปอร์เซียมีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และขยายบทบาทตลอดจนอิทธิพลอย่างสูงในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง ในสมัยพระเจ้าปราสาททองนี้เองที่ชาวเปอร์เซียมีอิทธิพลอย่างมาก จากหลักฐานในเอกสารเปอร์เซียกล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์ร่วมมือกับพระศรีสุธรรมราชา ยึดอำนาจจากเจ้าฟ้าไชย โดยรับการสนับสนุนจากขุนนางชำนาญการ และขุนนางต่างชาติ และต่อมาทรงยึดอำนาจจากพระศรีสุธรรมราชาอีกครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากเปอร์เซีย ซึ่งหลักฐานของเปอร์เซียกล่าวไว้ชัดเจนว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงอาศัยพิธีมูฮัรรัม หรือพิธีเจ้าเซ็น ลอบนำขุนนางแขกเข้ามาปล้นพระราชบัลลังก์จากพระศรีสุธรรมราชา โดยพิธีเจ้าเซ็นเป็นพิธีของมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่จะจัดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ที่อิหม่ามฮูเซน หลานของท่านนบีมุฮัมมัดถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม

“โดยบทบาทของชาวเปอร์เซียในสมัยพระนารายณ์ คือเป็นทหารอาสา เป็นองครักษ์ หรือกองทหารรักษาวัง กองทหารปืนไฟ ทหารม้าแขก และเป็นขันทีในราชสำนัก” นายจุฬิศพงศ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image