’11 สภาวิชาชีพ’ ดับเครื่องชน ปิดช่อง..มหา’žลัยไทย เปิดหลักสูตรไร้คุณภาพ!!

ความเห็นต่างระหว่าง “สภาวิชาชีพ” และ “มหาวิทยาลัย” เกี่ยวกับการจัดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ ดูเหมือนจะมีมาต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากมหาวิทยาลัยซึ่งมี “สภามหาวิทยาลัย” เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการ กำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ

จึงเห็นว่าสภาควรมี “อำนาจ” เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตัดสินใจว่าจะ “เปิด” หรือ “ไม่เปิด” หลักสูตรอะไรก็ได้

ขณะที่การเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวกับสภาวิชาชีพต่างๆ กฎหมายกำหนดให้สภาวิชาชีพทั้ง 11 แห่ง ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และคอย “กำกับ” ดูแลให้หลักสูตรนั้นๆ เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนด ไปจนถึงการจัดสอบ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ”

แต่ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง “แอบ” เปิดหลักสูตรโดยที่ยัง “ไม่ได้” รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ ทำให้นักศึกษา “ไม่” สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และทำงานในวิชาชีพนั้นๆ ได้

Advertisement

หลายครั้งหลายครา นักศึกษาที่รู้ไม่เท่าทันมหาวิทยาลัยที่ดอดเปิดหลักสูตรเหล่านั้น ต้องรวมตัวกันร้องเรียนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อขอความเป็นธรรม

กรณีล่าสุด ตัวแทนนักศึกษาและผู้ปกครองคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน ประมาณ 30 คน เข้าพบผู้บริหาร สกอ.เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีมหาวิทยาลัยคริสเตียนเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรการพยาบาลเมื่อปีการศึกษา 2561 ทั้งที่สภาการพยาบาลมีมติให้ “งดรับ” นักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560

เพราะหากเรียนจนจบ ก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพ “พยาบาล” ได้!!

Advertisement

จึงอยากให้ สกอ.ประสานมหาวิทยาลัยคริสเตียน “เยียวยา” ให้นักศึกษา 60 คน ที่ตัดสินใจลาออกเพื่อหาที่เรียนใหม่ หลังจากเสียเวลาไปแล้ว 1 ปี และต้องกู้เงินจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) คนละ 90,000 บาท

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รับปากจะเร่งรัดให้มหาวิทยาลัยคริสเตียนเร่งแก้ปัญหา รวมทั้งจะหารือนายกสภาการพยาบาลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะนักศึกษารุ่นดังกล่าว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาการพยาบาลจะยอมรับแนวทางแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัย หรือไม่??

ส่วนที่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชดใช้ค่าเสียหายนั้น ต้องไป “ฟ้องร้อง” กันตามกระบวนการทางกฎหมาย!!

ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคริสเตียนโต้แย้งว่าสภาการพยาบาลไม่มีอำนาจสั่งการให้มหาวิทยาลัย “รับ” หรือ “งดรับ” นักศึกษา แต่ปัญหาเกิดจากสภาการพยาบาลเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา และให้ทำตามหลักเกณฑ์ใหม่ภายในปีการศึกษา 2560 รวมถึงการตีความประกาศที่ว่า “ปีต่อไปจะให้งดรับนักศึกษา” ไม่ตรงกัน โดยมหาวิทยาลัยเข้าใจว่าหมายถึงปีการศึกษา 2561

ที่สำคัญ ยืนยันว่าสภาวิชาชีพ “ไม่มี” อำนาจรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกต่อไปแล้ว

เนื่องจาก ศธ.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า สภาวิชาชีพไม่มีอำนาจในการรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย??

โดยมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ยังรวมตัวกันทำหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้สภาการพยาบาลทำตามกฎหมาย คือไม่ต้องรับหลักสูตรของมหาวิทยาลัย แต่ให้ทำหน้าที่จัด “สอบ” เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เท่านั้น

ซึ่ง นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. มองว่าข้อโต้แย้งของมหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า สภาวิชาชีพไม่มีอำนาจในการรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย แต่เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยในการพิจารณาตามกรอบมาตรฐานหลักสูตร และกรอบมาตรฐานวิชาชีพ โดยสภาวิชาชีพมีหน้าที่ให้คำแนะนำ เพื่อให้ผลผลิตหรือบัณฑิตที่ออกมามีประสิทธิภาพที่ดี

แต่ นพ.อุดมก็เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสภาวิชาชีพและมหาวิทยาลัยให้แยกออกจากกันเด็ดขาด เพราะต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันพิจารณาหลักสูตรให้ครบตามมาตรฐานที่กำหนด

พร้อมกับฟันธงว่า “กรณีมหาวิทยาลัยคริสเตียนนั้นถือว่ามหาวิทยาลัยทำไม่ถูกต้อง เพราะสภาวิชาชีพได้ออกหลักเกณฑ์และแจ้งเตือนให้มหาวิทยาลัยทำตามเกณฑ์ล่วงหน้าแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังไม่ทำตาม”

อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือความไม่ลงรอยระหว่างสภาวิชาชีพและมหาวิทยาลัย ดูเหมือนจะไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนจาก “สมาพันธ์สภาวิชาชีพ” ประกอบด้วยสมาชิก 11 แห่ง ได้แก่ แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี

ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. …” และ “ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. …” ต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)

เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังมีข้อ “บกพร่อง” ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดความกังวลต่อการบริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และบัณฑิตที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพต่างๆ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. “ขัดแย้ง” กับกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของสภาวิชาชีพต่างๆ อย่าง ชัดเจน

ทั้งยัง “สกัด” ไม่ให้สภาวิชาชีพแต่ละแห่งปฏิบัติหน้าที่ได้!!

สมาพันธ์สภาวิชาชีพจึงเสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … โดยเฉพาะร่างกฎหมายฉบับที่ยกร่างโดยคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา โดยให้ “ยกเลิก” มาตรา 3 ที่ระบุให้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ กกอ.และ สกอ.และยกเลิกมาตรา 64-66 ที่ห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหลักสูตร หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภา วิชาชีพนั้นๆ

รวมถึงให้ “ทบทวน” นิยามคำว่าสภาวิชาชีพ และการบริการทางวิชาชีพของสถาบันการศึกษา

เนื่องจากสภาวิชาชีพถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลคุณภาพบัณฑิต การรับรองหลักสูตร และความพร้อมในการจัดการศึกษาในวิชาชีพนั้นๆ

อีกทั้งแม้สภาวิชาชีพจะช่วยกำกับดูแลตั้งแต่การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ไปจนถึงการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในแต่ละปียังมีบัณฑิตที่สอบผ่านเพียงน้อยนิด อาทิ สภาทนายความ สอบผ่าน 10-20% สภาการพยาบาล 60% เป็นต้น แต่โดยภาพรวมมีผู้สอบผ่านในวิชาชีพต่างๆ โดยเฉลี่ยเพียง 10% เท่านั้น

ฉะนั้น ถ้าสภาวิชาชีพไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ คือมีส่วนรับรองหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นๆ และทำหน้าที่จัดสอบเพียงอย่างเดียว ปัญหาบัณฑิตที่สอบไม่ผ่าน คงต้องนึกภาพกันเอาเองว่าบัณฑิตที่ “สอบตก” จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าใด

และผลกระทบจะตามมามากมายขนาดไหน…

ซึ่งมหาวิทยาลัยหรือสภามหาวิทยาลัยคงไม่อาจ “ปัด” ความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าบัณฑิตเหล่านั้น “พ้น” จากรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว

นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร ตัวแทนสมาพันธ์วิชาชีพ 11 แห่ง ระบุว่า สภาวิชาชีพมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการศึกษาของชาติ รับรองหลักสูตรและปริญญาสาขาวิชาชีพทั้ง 11 สาขา ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประชาชน โดยให้คำแนะนำคณะต่างๆ ตั้งแต่การจัดการเรียน หลักสูตร การฝึกปฏิบัติให้ได้มาตรฐานสากล แต่ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรและอนุมัติปริญญา แต่ให้จัดสอบผู้ที่สำเร็จการศึกษา เพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพ สมาพันธ์วิชาชีพเห็นว่าหากสภาวิชาชีพไม่ได้เข้าไปดูแลตั้งแต่การจัดการเรียนการสอน จะไม่สามารถกำหนดมาตรฐานได้

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนจัดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพจำนวนมากและหลากหลาย จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานการเรียนการสอนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อรับประกันเบื้องต้นว่าผู้จบต้องมีมาตรฐานสมรรถนะตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อจะสอบรับใบอนุญาตฯ ได้ หากให้สภาวิชาชีพจัดสอบอย่างเดียวหลังเรียนจบ หรือดูแลที่ขั้นตอนปลายน้ำ จะส่งผลกระทบ 2 ประการ คือ 1.ไม่รู้ว่าผู้เรียนได้มาตรฐานหรือไม่ และ 2.ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีผู้สอบผ่านเพื่อ รับใบอนุญาตฯ เพียง 10% ของแต่ละวิชาชีพ ถ้าผู้เรียนสอบไม่ผ่าน เราจะได้ผู้ประกอบวิชาชีพเถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ มากขึ้น” นายกมลกล่าว

นอกจากนี้ ไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขเปิดกว้างให้ 7 อาชีพ ที่เข้ามาทำงานในไทยได้ โดยต้องให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องรับรองหลักสูตร เทียบโอน หรือให้เรียนเพิ่มเติมให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับไทย แต่ถ้ากฎหมายใหม่ “ห้าม” ไม่ให้สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตร จะทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานได้อย่างสะดวกสบาย และไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ซึ่งสมาพันธ์สภาวิชาชีพกำลังรอคำตอบจากผู้บริหาร ศธ.และผู้เกี่ยวข้อง แต่หากข้อเสนอยังไม่ได้รับคำตอบ หรือการแก้ไข ก็จะเดินหน้ารวบรวมความเห็นจากสมาชิกสภาวิชาชีพทั้ง 11 แห่ง เพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป

ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติยืนยันว่า ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น จะเสนอทั้งร่างของคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา และร่างของ กอปศ.โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะนำไปรวมเป็นร่างเดียวเพื่อเสนอ สนช. ซึ่งอยู่ระหว่างขอความเห็น และประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อผ่านประชาพิจารณ์ทั้ง 2 ร่างแล้ว จะมีคณะกรรมการกฤษฎีการชุดพิเศษ ที่เป็นคณะกรรมการอิสระขึ้นมาดูร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาโดยเฉพาะ

“ที่ไม่ยึดร่างใดเป็นหลัก เพราะเห็นว่าร่างของใครมีส่วนดีก็เอามาปรับและเสริมกัน แต่ในส่วนปัญหาเกี่ยวกับสภาวิชาชีพ เสนอให้นำร่างของ กอปศ.มาใช้เป็นหลัก เนื่องจากร่างของ กอปศ.ไม่ได้เขียนข้อกำหนดเกี่ยวกับวิชาชีพไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดการปรึกษาหารือกันได้สะดวก แต่หากมีข้อกำหนดไว้ อาจเกิดการนำข้อกฎหมายมาอ้าง ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ซึ่ง นพ.อุดมยินดีถอย” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

หวังว่าการพิจารณาสาระของร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ในส่วนของหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ “ชีวิต” และ “ทรัพย์สิน” ทั้ง “ความเป็น” และ “ความตาย” โดย “ทางตรง” และ “ทางอ้อม” ของผู้คนมากมาย

ผู้พิจารณาจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ ใช้หลักเหตุและ ผล อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ

โดยยึดประโยชน์ที่ “บัณฑิต” และ “สังคม” จะได้รับ

รวมถึง ต้องปิดช่องทางทำมาหากินของ “สถาบันอุดมศึกษา” ที่มุ่งหาผลประโยชน์ โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image