ประเมิน 4 ปีรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’  ‘เกือบตก’ ปฏิรูปการศึกษา

หมายเหตุ – โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศครบ 4 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ‘มติชน’ จึงสัมภาษณ์นักวิชาการและอาจารย์ในแวดวงการศึกษา เพื่อให้สะท้อนการบริหารงานด้านการศึกษาของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

สมพงษ์ จิตระดับ
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครบรอบ 4 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษา 4 ปี ผมให้ 4 เต็ม 10 คะแนน ถือว่าสอบตก ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญและมองการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกสิ้นหวัง สลด และหดหู่กับการศึกษาไทย จากการพูดคุยกับคนแวดวงการศึกษา มองว่าควรจะเห็นผลงานและมีความแตกต่างมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงาน และยังไม่เห็นผลตอบแทนที่จะได้รับ ระบบการศึกษาที่ผ่านมาเป็นระบบที่เฉียดตาย นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป ใช้ชีวิตอยู่กับการติว การสอบ การแข่งขัน ทำให้เกิดความเครียดและกดดัน พอเข้ามัธยมปลายก็ต้องแข่งขันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันการรับสมัครบุคคลเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส มีมากถึง 5 รอบ แทนที่เด็กจะได้เรียนในพื้นที่ดีๆ เรียนในสิ่งที่สนใจ กลับต้องเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน

ในส่วนของ ศธ. 4 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างไม่ได้เล็กลงตามที่คาดหวัง แต่กลับขยายมากขึ้นแบบไม่สิ้นสุด และไม่ได้ตอบโจทย์ที่ว่า เด็กและการศึกษาจะดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งเพิ่มศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และล่าสุดเตรียมจะเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) อีก 36 เขต ส่งผลให้มีข้าราชการระดับ 9-10 เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 30-35%

Advertisement

เมื่อจำนวนข้าราชการและการขยายตัวของหน่วยงานใน ศธ.เพิ่มขึ้น ส่งผลให้งบประมาณส่วนใหญ่ที่ ศธ.ได้รับถูกใช้ไปกับค่าบุคลากร จากเดิม 72% ของงบทั้งหมดที่ได้รับ เป็น 82% ทำให้เหลืองบที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพผู้เรียนน้อยลง โรงเรียนมีสภาพแย่ ความแตกต่างตรงนี้ทำให้เกิดคำถามว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เรากำลังปฏิรูปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ อำนาจตัวบุคคล หรือปฏิรูปเพื่อเด็ก และคุณภาพการศึกษา

ส่วนตัวเชื่อว่าคนมองเห็นปัญหานี้แต่ไม่มีใครกล้าทักท้วง ทั้งที่เดินมาผิดทิศ ผิดทาง และหากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ อนาคตการปฏิรูปการศึกษาจะทำได้ยากมากขึ้น ขณะที่นโยบายการปฏิรูปของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่ละคน ซึ่งรัฐบาลนี้เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว 3 คน แม้จะมาจากรัฐบาลเดียวกัน แต่นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่ละคนกลับไม่สอดรับกัน ไม่สานต่อ ทำแต่สิ่งที่ตัวเองอยากทำ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือแม้แต่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ล้วนเป็นการปฏิรูปเชิงเอกสาร ให้ข้อเสนอแนะ ปฏิรูปแบบโยนหินถามทาง แต่ไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม เห็นเพียงของ กอปศ.ที่ผลักดันกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้ออกมาเป็นกฎหมายได้

Advertisement

ในส่วนของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบัน ผมให้ 5 คะแนน ถือว่าคาบเส้น เพราะยังไม่เห็นการตัดสินใจที่เด็ดขาด และยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการปฏิรูปที่สำคัญ ทำแต่เรื่องที่ไม่กระทบกระเทือนตัวเอง และไม่มีเวลาทำงานด้านอื่น ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะเจอแรงต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ จึงมุ่งแต่แก้ไขปัญหาการทุจริต แม้จะถือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็ยังถือว่าไม่สะเด็ดน้ำดีนัก

เวลาที่เหลืออีก 8 เดือน ผมอยากให้ นพ.ธีระเกียรติหันกลับมาดูภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาให้มากขึ้น ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตให้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.สะสางต่อไป ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก ที่สำคัญจะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนความคิดข้าราชการให้เห็นประโยชน์ และเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูปครั้งนี้มากขึ้น

 

สมพงษ์ จิตระดับ

อดิศร เนาวนนท์
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

4ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ นอกจากรัฐบาล คสช.ได้ใช้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปลืองไปถึง 3 คน คือ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ซึ่งไม่แตกต่างจากรัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว ผลงานของรัฐบาล คสช.โดย 3 รมต.ศธ.ก็ไม่มีอะไรที่โดดเด่นเช่นกัน ทั้งๆ ที่รัฐบาล คสช. มีทั้งอำนาจพิเศษที่สนับสนุนการทำงานมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช.ทำเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีความยั่งยืน การปฏิรูปเชิงโครงสร้างซึ่งควรจะเป็นบทบาทที่ คสช.ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมที่สุดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลไปยังคุณภาพการศึกษา ยังเป็นภาพที่ยังเลือนรางตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น และยังไม่มีความเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ผลงานด้านการศึกษารัฐบาล คสช.ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามนโยบายตามจุดเน้นของ คสช. มีนโยบายและโครงการสำคัญๆ อาทิ การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โรงเรียนประชารัฐ สะเต็มศึกษา English Boot Camp DLTV และ DLIT การผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คูปองครู การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งนโยบายและโครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นนโยบายที่ดี แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติมาก เพราะเป็นนโยบายเฉพาะหน้าเร่งด่วนจะเอาผลงาน ขาดการศึกษาประสิทธิภาพและความคุ้มค่ารวมทั้งผล กระทบอื่นที่ตามมา ที่ล้มเหลวที่สุดคือการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี ขาดการเตรียมความพร้อมและได้สร้างปัญหาให้กับโรงเรียนต่างๆ มากมาย และการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคที่ดูเหมือนจะมีธรรมาภิบาลมากขึ้นแต่ก็ได้สร้างปัญหาใหม่ตามมา คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จนกลายเป็นความขัดแย้ง ส่วนในระดับอุดมศึกษา รัฐบาล คสช.มีบทบาทชัดเจนเฉพาะเรื่องการใช้มาตรา 44 กับบางมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาการบริหารภายในแต่ก็ทำได้เพียงการระงับยับยั้งเท่านั้น ที่น่าจับตาคือนโยบายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นระหว่างอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกับมหาวิทยาลัยว่าจะมีจุดสมดุลอย่างไร ผลงานการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ผ่านมายังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่พอจะมองเห็นภาพตอนนี้ยังไม่สำเร็จสักเรื่องยังอยู่ในการดำเนินการของ กอปศ. เช่น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนในกำกับของรัฐ ร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาควรจะมีผลเป็นรูปธรรมไปแล้ว ถ้าจะประเมินโดยให้คะแนนเชิงเนื้อหาผมให้ 5 คะแนน เต็ม 10 ครับ

อดิศร เนาวนนท์

ภาวิช ทองโรจน์
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา

การศึกษาไทยก่อนการยึดอำนาจมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในหลายด้าน รัฐบาลชุดก่อนควรยกเป็นเรื่องเร่งด่วนในการแก้ปัญหา อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการศึกษาไทยจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในด้านการศึกษาตั้งความหวังว่าเป็นการดีที่จะมีโอกาสในการพัฒนาการศึกษาเสียที เพราะโอกาสที่จะรื้อระบบการศึกษาไทยมีหลายอย่างที่ไม่สามารถใช้อำนาจปกติจัดการได้ เมื่อมีรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษจะสามารถจัดการการศึกษา
ทุกปัญหาได้

แต่เมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาปกครองเหมือนกับว่าการจัดการและพัฒนาการศึกษาไม่ได้อยู่ในความสำคัญลำดับต้นของคณะรัฐบาลนี้ ซึ่งถือว่าน่าผิดหวังมาก และยังมีการวางเงื่อนไขกติกาที่ยุ่งยากคือให้มีรัฐธรรมนูญก่อน หลังจากนั้นภายใน 1 ปี จึงจะมีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งหมายความว่าหลังจาก คสช.ยึดอำนาจ การศึกษาไทยต้องเสียเวลารอไปถึง 3-4 ปีกว่าจะมีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา โดยเป็นการเสียเวลาที่เปล่าประโยชน์และเป็นการเสียเวลาที่น่าจะปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาได้อีกมาก คิดว่าในแง่ของศึกษา คสช.ก้าวผิดมาตั้งแต่ต้นอีกด้วย เพราะถ้าจะทำหรือเริ่มปฏิรูปการศึกษา คสช.สามารถจะทำได้อยู่แล้วแต่กลับรอเวลาและไม่เริ่มต้นทำเสียที เมื่อมาถึงปัจจุบันสถานการณ์จะเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งรูปแบบปกติแล้ว จะจัดการปฏิรูปการศึกษาตอนนี้จะทำได้ยาก

หรือจะเป็นการวางตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับน่าผิดหวังมากเพราะวางทหารเข้ามาดูแล โดยที่ทหารเหล่านั้นไม่รู้เรื่องการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น นโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทำนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เป็นนโยบายที่ถือว่าสร้างความเสียหายให้กับระบบการศึกษาไทยมาก เพราะการลดเวลาเรียนไม่สามารถทำได้เนื่องจากหลักสูตรยังเป็นหลักสูตรเดิม เงื่อนไขในการเรียนรู้ยังคงเดิม ทำให้เกิดความเครียดในการจัดระบบ การจัดการศึกษาก็ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธาพ ต้องรื้อโครงสร้างของหลักสูตรใหม่ทั้งหมดถึงจะดำเนินการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดต้องการบอกว่า นาทีทองของการปฏิรูปทางการศึกษาหายไปแล้ว ซึ่ง คสช.ควรจะรื้อปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่ทำ จึงให้คะแนนการทำงานของ คสช.เพียง 5 คะแนน จาก 10 คะแนนเท่านั้น มีข้อดีเพียงแค่เรื่องการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ที่คิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น การดำเนินงานด้านอื่นไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

ภาวิช ทองโรจน์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image