กอปศ.แถลงผลงาน 1 ปี ปฏิรูปการศึกษาไทย (คลิป)

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวในการแถลงผลงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี กอปศ.ว่า ผลงานในรอบ 1 ปี ของ กอปศ.ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของวาระการดำเนินงาน ที่ผ่านมาวิกฤตการศึกษาไทยมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาความเป็นเลิศ ความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้ ปัญหาประสิทธิภาพ ระบบบริหารงานที่ขาดอิสระ และขาดความคล่องตัว การปฏิรูปจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคปฏิบัติการ คือโรงเรียน สถานศึกษา และหน่วยบริการวิชาการต่างๆ ทั้งหมดนี้ต้องปฏิรูปสร้างความร่วมมือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน

นพ.จรัสกล่าวอีกว่า การวางแผนแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องปรับแก้มีหลายส่วน ได้แก่ 1.การเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ นักเรียน ครู โรงเรียนต้องมีอิสระในการบริหารจัดการ 2.การรวมโรงเรียนที่เป็นพื้นที่นวัตกรรม เพื่อให้คล่องตัว โดยความช่วยเหลือของสถาบันหลักสูตร และการเรียนการสอนแห่งชาติ และ Digital Learning Platform ในส่วนการเชื่อมโยงการศึกษากับอาชีพ การศึกษาเพื่อดำรงชีวิต การศึกษาเพื่ออาชีพ การศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึง อาชีวศึกษา ต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับโลกของงานอาชีพ ต้องมีกลไลตลาดเป็นเครื่องมือ และช่วยปลดล็อกระบบราชการ ในส่วนของการปฏิรูปอุดมศึกษา จะต้องเปลี่ยนเป็นอุดมศึกษา 4.0 และต้องผลิตฐานความรู้ และนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ คือ 1.ต้องมีนโยบายชาติด้านอุดมศึกษา และแผนการศึกษาชาติด้านอุดมศึกษา 2.การสร้างอัตลักษณ์ของสถาบันอุดมศึกษา และ 3.การกำกับคุณภาพการศึกษา

นพ.จรัสกล่าวต่อว่า การปฏิรูปการศึกษาในขณะนี้ กอปศ.จัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาไทยซึ่งรองรับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน แผนนี้กำหนดสิ่งที่ต้องทำในระยะ 2 ปี และกำหนดสิ่งที่ต้องทำภายหลังหมดวาระแล้วอีก 3 ปี จากนั้นจะเป็นแผนปฏิรูประยะ 10 ปี และ 20 ปี แผนนี้จะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งจะเสร็จภายใน 1-2 เดือน ส่วน พ.ร.บ.ที่ประกาศใช้เเล้วคือ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ในส่วนของ พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. … ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อย และเสนอรัฐบาลเเล้ว และขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. … ยกร่างเสร็จเเล้ว และพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“ปีต่อไป กอปศ.มีแผน Quick Win คือสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะเวลาสั้น ได้แก่ Digital Learning Platform ให้ความรู้นักเรียนทั่วประเทศ Quick Win ต่อมาคือการบุกเบิกให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมต่างๆ” นพ.จรัส กล่าว

Advertisement

นายไกรยศ ภัทราวาท เลขานุการคณะอนุกรรมการกองทุน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลวิชาการทั้งใน เเละต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดทำกรอบภารกิจการดำเนินงานของกองทุน จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 4 ภูมิภาค และยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เสนอแก่ กอปศ.เรียบร้อยเเล้ว

นายศิริเดช สุชีวะ ประธานคณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานดังนี้ การผลิตครู ให้มีหน่วยงานกำหนดนโยบายวางแผนการผลิตครู และจัดทำระบบข้อมูลครู เป็นต้น ระยะเวลาที่เหลือ คณะอนุกรรมการฯ จะดำเนินงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 2.ปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราบการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 3.ปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) และ 4.ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)

นางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน กล่าวว่า เน้นการปรับปรุงการเรียนการสอนเกี่ยวกับนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยพัฒนาเครื่องมือ ส่วนเรื่องที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนกลุ่มพิเศษ จัดระบบให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษตั้งแต่เกิดจนตลอดชีวิต การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรกลางในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษา พัฒนาระบบเทียบเคียง และเทียบโอน ขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว รอเสนอรัฐบาลต่อไป

Advertisement

“ช่วง 1 ปีข้างหน้า จะติดตามพระราชกฤษฎีกา และการนำไปใช้ เพราะกฎหมาย เเละการอนุมัติหลักสูตรเป็นของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และหลักสูตรด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ขั้นต้นจะหาแนวทางบูรณาการหน่วยต่างๆ ไว้ด้วยกัน และปฏิรูปเรียนรู้ด้วยดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อให้ครูเข้าถึงทรัพยากรความรู้ การจัดการเรียนรู้ และ กอปศ.เสนอให้ปรับการทดสอบโอเน็ต ควรให้ใช้วิธีการสุ่มสอบ และพัฒนาแบบทดสอบให้วัดสมรรถนะตามหลักสูตรได้อย่างมีคุณภาพ” นางยุวดี กล่าว

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กล่าวว่า การปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คณะอนุกรรมการฯ ได้รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล รวมงานวิจัยต่างๆ จนได้ข้อมูลระดับหนึ่งที่จะรับฟังความคิดเห็น จัดทำเป็นรายงานการศึกษา หารือความคิดเห็นในการปรังปรุงโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ ได้กำหนดประเด็นให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการ 2 แนวทาง ดังนี้ 1.เสนอให้ฝ่ายบริหารดำเนินการมอบอำนาจจากส่วนกลางไปสถานศึกษาที่มีความพร้อม และ 2.เตรียมเสนอร่างกฎหมายใหม่ให้รองความมีอิสระในการบริหารการจัดการของสถาศึกษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image