สอบตั๋วครู!! คุรุสภาเตรียมนำร่องสอบใบอนุญาตครูปี’62

นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า การดำเนินงานของคุรุสภาในปี 2561 ดำเนินการเรื่องงานมาตรฐานวิชาชีพ โดยกำหนดและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ที่เน้นสมรรถนะในวิชาชีพให้ชัดเจน และสอดรับกับกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงมาตรฐานวิชาชีพครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA – TCF : Southeast Asia Teachers) ขณะนี้มี 7 ประเทศที่รับรองมาตรฐานวิชาชีพครู และพร้อมประกาศใช้ทันทีเมื่อผ่านการรับรองหมดทุกประเทศในอาเซียน อีกทั้ง ในปี 2561 คุรุสภาผลักดันกระบวนการผลิตครูให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานการผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูระดับสากล ระยะแรก จะพิจารณาจากการรับรองปริญญาที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การรับรอง ประกอบด้วย มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต ส่วนระยะที่สอง ประเมินคุณภาพบัณฑิตโดยวิธีการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

“เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เห็นว่าต่อไปครูต้องสอบขอใบอนุญาตฯ ให้เหมือนวิชาชีพอื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างหลักการ และร่างแนวทางการดำเนินการทดสอบ ดังนี้ 1.วัตถุประสงค์ของการทดสอบ 2.องค์ประกอบการทดสอบ ประกอบด้วย การทดสอบสมรรถนะทางวิชาชีพครู และการเทียบผลการประเมินความรู้สาขาวิชาเอก และ 3.เกณฑ์การพิจารณา โดยการทดสอบสมรรถนะทางวิชาชีพครู ต้องมีผลคะแนนทดสอบไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนรวม อย่างไรก็ตาม การใช้ผลการทดสอบนั้น ระยะแรกเห็นว่าไม่ควรใช้คะแนนการทดสอบตัดสินเพื่อการได้ หรือไม่ได้รับใบอนุญาตฯ แต่วัดระดับคุณภาพของบัณฑิต เพื่อการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการผลิตเป็นสำคัญ โดยปี 2562 คุรุสภาจะวางระบบ และทดลองใช้ โดยจะจัดสอบขอใบอนุญาตครูในปี 2563” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา คุรุสภาเปิดให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ด้วยตนเอง (self – service) ผ่านเว็บไซต์คุรุสภา และมีโครงการ “จรรยาบรรณทันสมัยใช้ไฮเทค (High Tech)” โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับคุรุสภาจังหวัด ในการสืบข้อมูลพื้นฐานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อาจเข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีในการประสานงานการสืบสวนการให้รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในปี 2560 คุรุสภาจัดการส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพเชิงรุกผ่านกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ (e-PLC) เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพทางการศึกษา ได้รับการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อสอดคล้องกับโครงการโรงเรียนนำร่องการพัฒนาวิชาชีพแบบ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” (PLC) เพื่อส่งเสริมครู สนับสนุนให้มีความร่วมมือกันระหว่างเครือข่าย 3 ระดับ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หน่วยงานทางการศึกษา และระดับกลุ่มสมาชิกวิชาชีพครู โดยใช้กระบวนการดำเนินงานตามที่คุรุสภากำหนด ซึ่งคุรุสภาสนับสนุนเงินอุดหนุนจัดกิจกรรม PLC ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2561 เป็นเงินกว่า 11 ล้านบาท พร้อมร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 12 แห่ง เพื่อติดตามการดำเนินงาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image