‘ศูนย์พิทักษ์-นักวิชาการ’ เห็นด้วยถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ตั้ง ‘กก.มส.’

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ในการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ และเจ้าคณะภาค ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ว่า ส่วนตัวเห็นเป็นเรื่องที่ดีในการปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้เหมาะสมต่อบริบทของการบริหารคณะสงฆ์ ท่ามกลางสังคมในยุคปัจจุบัน เพราะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่ใช้กันอยู่นั้น เป็นการร่างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 แม้ว่ามีการปรับปรุงมาบ้างแล้ว แต่ในบางมาตรายังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบสังคมในปัจจุบัน

“การปรับปรุงครั้งนี้ทราบว่า ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการ มส.โดยตําแหน่ง แต่ยังคงให้มีกรรมการอื่นๆ นอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม 20 รูป แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้ง และถอดถอนเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร” พระครูปลัดกวีวัฒน์ กล่าว

พระครูปลัดกวีวัฒน์กล่าวต่อว่า ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการบริหารจัดการคณะสงฆ์ เพราะต่างจากเดิมที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระสังฆราช และให้เป็นอำนาจของพระสังฆราชในการบริหารคณะสงฆ์ในทุกระดับชั้น แต่ตามแนวทางใหม่ แสดงว่าต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา ซึ่งเกิดคำถามจากคณะสงฆ์ว่าด้วยแนวทางดังกล่าว ขั้นตอนการเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ นั้น ใครเป็นผู้ทูลเกล้ารายนามพระเถระเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย เป็นฝ่ายคณะสงฆ์ หรือนายกฯ หรือพิจารณาร่วมกันแล้วทูลเกล้าฯ ประเด็นตรงนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะเป็นการศึกษาแนวทาง ดังนั้น เมื่อเป็นประเด็นสำคัญ จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบคือสำนักงานกฤษฎีกา ยึดตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

พระครูปลัดกวีวัฒน์กล่าวอีกว่า คือก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ รวมทั้ง เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และขอให้ชาวพุทธผู้ที่มีความเห็นในประเด็นที่ว่ามา ช่วยกันเสนอแนวทางที่สมควรในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อจะได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมภาร พรมทา นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า สาระใหญ่ของสิ่งที่จะแก้คือกรรมการ มส.ประเภทโดยตำแหน่งจะไม่มี อ่านเหตุผลแล้วฟังได้ เพราะสมเด็จพระราชาคณะท่านชราภาพ แต่กฎหมายบังคับให้ท่านเป็นผู้บริหาร ท่านป่วย ท่านก็ทำงานไม่ได้ คนอื่นที่ทำงานได้ก็เข้ามาแทนไม่ได้ การยกเลิกไม่น่ามีผลกับท่านที่ยังทำงานได้ ท่านสามารถได้รับเลือก การแก้ประเด็นนี้อธิบายได้ว่าทำให้ระบบคล่องตัว และมีประสิทธิภาพขึ้น ส่วนตำแหน่งกรรมการ มส.และเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ระบบนี้เคยใช้สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถ้าคิดว่าสมณศักดิ์พระเจ้าแผ่นดินท่านก็ทรงแต่งตั้งอยู่แล้ว การแต่งตั้งกรรมการ มส.และเจ้าคณะระดับสูงที่กฎหมายให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน ดังนั้น จะรอดูของใหม่ว่าจะทำงานได้ผลอย่างไร

“มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไม่ค่อยกังวลคือ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดญาณเวศกวัน) นั้น ตามความเห็นผมในระบบ มส.เดิม โอกาสที่ท่านจะเป็นสมเด็จพระราชาคณะยากมาก แต่ท่านก็ได้เป็น แปลว่าอะไร อย่างหนึ่งที่ผมแปลคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเปิดทางให้พระหนุ่มๆ ที่เหมาะสมได้โอกาสทำงาน อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้มีกรรมการที่เป็นคฤหัสถ์อย่างน้อยสองคน เลือกจากนักวิชาการที่มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนา” นายสมภาร ระบุในเฟซบุ๊ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image