เปิด…ที่มา ‘แก้กม.สงฆ์’ ถวายพระราชอำนาจ ‘แต่งตั้ง-ถอด’ กก.มส.

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่5 กรกฎาคม ได้มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ โดยได้พิจารณา 3 วาระรวด และให้ความเห็นชอบไปในคราวเดียวกัน

โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ได้มีการเตรียมการตั้งแต่เมื่อครั้งมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดระเบียบการปกครอง ตอนแรกได้คิดกันหลายวิธีว่าจะใช้กลไกอย่างไร แต่สุดท้ายมาคิดว่าฆราวาสคิดจะไปปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ ฆราวาสมีความชอบธรรมเพียงใด มีความรู้ความเข้าใจเพียงใด

ที่สุดได้ข้อยุติว่าสิ่งที่ควรจะทำ คือ ฆราวาสนั้นคงได้แต่เพียงเป็นผู้เสนอแนะ แต่ผู้ที่จะขับเคลื่อนและนำไปปฏิบัติและสั่งการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริงคงต้องเป็นคณะสงฆ์เอง โดยคณะสงฆ์ไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.คณะสงฆ์ไทย คือ ฝ่ายเถรวาททั้งธรรมยุตหรือมหานิกาย 2.คณะสงฆ์อื่น ซึ่งกฎหมายรับรองเฉพาะคณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกาย รัฐบาลคิดว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ต้องอยู่ที่มหาเถรสมาคม ซึ่งในอดีตมีจุดอ่อน คือ การที่มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีความเหมาะสมตามหลักอาวุโส แต่ในระยะหลังกว่าที่พระภิกษุจะขึ้นไปถึงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชา ก็จะมีอายุมากและอาพาธ ทำให้ไม่สามารถประชุมมหาเถรสมาคมได้ ดังนั้น ถ้ามุ่งหวังจะให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้นำในการปฏิรูปนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและที่มาใหม่

เดิมทีไม่ได้คิดเรื่องที่มา คิดถึงเรื่องคุณสมบัติ แต่ในระยะหลังมานี้ก็เริ่มเกิดปัญหาขึ้น กรรมการมหาเถรสมาคมบางรูปมีปัญหาต้องคดีและถูกกล่าวหา สั่นสะเทือนความรู้สึกความเลื่อมใสศรัทธาที่ประชาชนมีต่อการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบปัจจุบันพอสมควรทีเดียว ดังนั้น ในที่สุดก็คิดกันว่ากลับไปดูรูปแบบใน พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้กันมาถึงรัชกาลที่ 8 ทั้งนี้ ดูโบราณราชประเพณี ดูรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบันที่กำหนดว่า

Advertisement

“พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และถอดถอนจากฐานันดรศักดิ์ ซึ่งหมายถึงฐานันดรศักดิ์พระและฐานันดรศักดิ์เจ้า ซึ่งหมายถึงกรณีสถาปนาอิสริยยศ จึงควรให้มีองค์ปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อถือจะได้มาจากพรรษายุกาล หรืออายุ จริยวัตร และควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ จึงควรย้อนกลับไปสู่การให้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต จนทำมาเป็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว”

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องเร่งเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะต้องการให้ทันกับกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 2 เดือน ขณะเดียวกันการปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยเป็นการกำหนดให้มหาเถรสมาคมไปทำหน้าที่ในเชิงปฏิรูปและขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไปในอนาคต สําหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ มาตรา 3 บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ทั่วไป พระมหากษัตริย์จะคงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม

ขณะที่ องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้

Advertisement

สำหรับ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก ย้อนกลับไปราวๆ วันที่ 23 มิถุนายน 2561 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ได้ประกาศการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยให้เหตุผลว่า ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และมติ ครม.วันที่ 4 เมษายน 2560 ประกอบกับมติ ครม. วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน ดังนี้

สภาพปัญหา มหาเถรสมาคมตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีวาระ 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่าสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง มักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล จึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง นอกจากนี้กรรมการบางรูปใขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล

จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนําให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีต ประเพณีอันดีงามของชาติ

หลักการใหม่ ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตําแหน่ง ทั้งนี้ ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (20 รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร

ให้กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้

จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์ www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561

ครบ 7 วัน ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (www.krisdika.go.th/wps/portal/general) ได้เผยแพร่ผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นว่ากรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น เป็นพระราชอำนาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กรณีดังกล่าว จึงเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กำหนดขึ้นเพิ่มแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้แก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขั้น เพื่อให้เป็นตามความมุ่งหมายดังกล่าว

สำหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไป ให้ความเห็นว่าไม่ควรให้นักการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งจำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

เมื่อ สนช.ผ่านร่างกฎหมาย 3 วาระรวดแล้ว จากนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต่อไป 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image