โครงการตำราฯ เปิดตัวหนังสือ ‘อยุธยา’ ช่วยเข้าใจหลากบริบท ไม่ใช่แค่สงคราม รวบตึงปวศ. การเมือง การบันเทิง (คลิป)

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 10 กรกฎาคม ที่บ้านไทยจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน และบริษัทอุตสาหกรรมไหม จัดงานเสวนาเนื่องในงานเปิดตัวหนังสือ “อยุธยา Discovering Ayutthaya : อยุธยา ประวัติศาตร์ การเมือง และการบันเทิง” ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดีพนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์

ศ.เกียรติคุณ ดร. เพ็ชรี สุมิตร ราชบัณฑิต กล่าวเปิดงาน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ปัจจุบันหนังสือ เกี่ยวกับสมัยอยุธยามีหลายแบบ ทั้งตำรา เอกสารวิชาการ แต่บางครั้งเข้าถึงยาก มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างอยุธนากับสังคม จึงพยายามเผยแพร่งานมากขึ้น โดยพิมพ์หนังสือ “อยุธยา Discovering Ayutthaya : อยุธยา ประวัติศาตร์ การเมือง และการบันเทิง” ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ 7 ประกอบด้วยเนื้อหา ภาพประกอบ แผนที่ เรื่องราวหลากหลาย

“ต้องขอบคุณนักวิชาการที่ร่วมกันปรับปรุงออกสู่สายตามหาชน นอกจากเล่าเรื่องอยุธยาในบริบทประวัติศาสตร์แล้วยังมีเรื่องของแม่น้ำลำคลองแผนที่ฝรั่ง วัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องชาวบ้านที่มีสีสันน่าตกใจ หาที่อื่นไม่ได้ นอกจากเล่มนี้” ศ.เกียรติคุณ ดร.เพ็ชรี กล่าว

ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวลาเดินทางไปอยุธยาครั้งไหนก็รู้สึกว่าอยุธยาถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจอย่างจริงจัง มีแต่ศ.ดร.ชาญวิทย์ และทีมงานที่ทำหนังสือเกี่ยวกับอยุธยาออกมาให้เห็นความอลังการจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตนอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความตื่นเต้น ภาพของอยุธยาในการเขียนประวัติศาสตร์เป็นภาพสังคมชาวนา แต่หนังสือเล่มนี้เสนอข้อมูลที่แตกต่าง อีกประเด็นที่น่าสนใจคือบทบาทของผู้หญิงในอยุธยาซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก

Advertisement

“อยุธยาเป็นเมืองนานาชาติ ในหน้งสือนำเสนอโครงสร้างเศรษฐกิจของอยุธยาว่าเป็นเมืองใหญ่ เป็นเหมือนประเทศที่ล้อมด้วยเมืองมากกว่าเมืองที่ล้อมด้วยชาวนา ต่างจากยุโรปในยุคเดียวกันที่มีชาวนาทำการเกษตรสนองความต้องการของเมืองใหญ่ ในขณะที่อยุธยาสมบูรณ์มาก ทั้งพืชผัก อาหาร ปลา” ดร.ผาสุก กล่าว

ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ประวัติศาสตร์อยุธยาที่ผ่านมาเป็นประวัติศาสตร์สงคราม ทำให้รู้สึกว่าเพื่อนบ้านคือศัตรู คอยนับว่ารบกับใครกี่ครั้ง แต่ความจริงแล้วอยุธยามีประวัติศาสตร์การค้า มีชีวิตความเป็นอยู่

“ประวัติศาสตร์การค้า ชีวิต ความเป็นอยู่หายไปจากตำราเรียนของเด็กในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้นำเสนออยุธยาในแง่มุมที่ว่าประวัติศาสตร์อยุธบามีทุกด้านของชีวิตคน จึงเริ่มต้นด้วยหัวข้ออยุธยาในแผนที่ฝรั่งเพื่อเข้าใจอยุธยาในบริบทโลก นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดว่าคนกินอะไร แต่งตัวอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหม มีแม้แต่เรื่องผักบุ้ง และปลาตะเพียน” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement

นายพิชานนท์ นันทวโรภาส บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา กล่าวในประเด็นเกี่ยวกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ “ฟอลคอน” ซึ่งมีภาพลักษณ์แง่ลบ เหมือนคนขายชาติ แต่ฝรั่งมองว่าเป็นคนฉลาดมาก ตนอยากฝากว่าชีวิตคนไม่เหมือนละครที่มีแต่มีสีขาวกับดำ แต่ยังมีสีเทาด้วย

“ฟอลคอนเป็นคนไม่มีการศึกษา ขึ้นเรือตอนอายุ 13 ล่องไปอังกฤษ อินเดีย และอินโดนีเซีย ตอนอยู่บนเรือเรียน 4 ภาษา ทำงานเป็นเสมียน โดยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาสร้างตัวได้คือตอนวิ่งเข้าไปขนดินปืนจากโกดังเมื่อไฟไหม้ จึงได้เงิน 1,000 คราวน์ แล้วใช้เงินก้อนนี้ตั้งต้นชีวิตในเมืองไทย” นายพิชานนท์ กล่าว

นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการชื่อดัง กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลสั้นกระชับ แต่มีเอกสารอ้างอิงให้ค้นต่อ มีเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นว่าบางเรื่องอยุธยาก้าวหน้ากว่าเรา เช่น การยอมรับให้โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย ในขณะที่บางเรื่องก็แทบไม่ต่างกัน โดยเฉพาะความเชื่อ ตนมองว่า เราในวันนี้ก้บคนอยุธยาก็เหมือนเงาในกระจก 417 ปี กับวันนี้ไม่ต่างกัน

“ความรุ่งเรืองของอยุธยาเกิดจากความใจกว้าง เปิดรับต่างชาติ ใช้ภูมิปัญญาจากคนเหล่านี้
ประเทศไทยตอนนี้ควรใช้จิตวิญญาณแบบอยุธยาจะทำให้เรารุ่งเรืองแบบอยุธยา
อดีตกับเราไม่ได้ห่างกัน อยุธยาอยู่กับเราไม่ได้หายไปไหน เราคิดแบบนี้เพราะอยุธยาคิดแบบนี้มาก่อน” นายสมฤทธิ์ กล่าว

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เลขานุการโครงการมูลนิธิโครงการตำราฯ กล่าวปิดท้ายว่า หนังสือเล่มนี้มี 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น และกำลังแปลเป็นภษาจีน ดังนั้น จะมีทั้งหมด 4 ภาษาภายในปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานคึกคักอย่างมาก โดยมีอาจารย์ นักวิชาการ บุคลากรจากแวดวงหนังสือ และศิลปะแขนงต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ , คุณเคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชื่อดัง , ศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และนางสาวปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บ.มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image