นักท่องเที่ยวนับพันหลั่งไหลร่วมงาน ‘ตานก๋วยสลาก’ หนึ่งเดียวในโลก (คลิป)

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง หลั่งไหลมาทำบุญงานสลากภัตรหนึ่งเดียวในโลก หรือตานก๋วยสลาก ประเพณีเก่าแก่ของ จ.ลำพูน ที่สืบทอดมานับ 1,000 ปี เชื่อว่ากุศลผลบุญที่ทำจะส่งถึงดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ เมื่อลูกหลานถวายทานสิ่งใดสิ่งนั้น ก็จะส่งถึงผู้ล่วงลับได้รับสิ่งของนั้น จึงเป็นที่นิยมทำบุญของคนชาวลำพูนตามความเชื่อ จึงทำต้นสลากย้อมที่สูงใหญ่มีสิ่งของจำนวนมากๆ โดยชาวลำพูนได้มทำต้นสลากขนาดใหญ่มีความสูงกว่า 10 เมตร หลายสิบต้นตั้งเรียงรายภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย และสลากของประชาชนทั่วไปนับหมื่นสลาก เป็นที่สนใจของทั้งผู้มาทำบุญ ประชาชน นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานทำบุญสลากภัตรที่วัดพระธาตุหริภุยชัย จ.ลำพูน แห่งนี้ โดยในปีนี้ประเพณีสลากย้อมของจังหวัดลำพูนได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน และภายในเย็นวันนี้จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยจะมีขบวนแห่ต้นสลากย้อม และการแสดง แสง สี เสียง แห่ไปยังวัดพพระธาตุหริภุญชัย และยังมีการประกวดการฮ่ำกะโลง และการทำบุญถวายทาน การอ่านเส้นสลากตามประเพณีของล้านนาอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เป็นงานประเพณีสำคัญซึ่งเป็นการทำบุญประจำปีก่อนออกพรรษา คนล้านนามักจะจัดทานสลากภัตรในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 “สลากย้อม” เป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นหญิงสาวที่มีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงอายุ 20 ปี โดยประมาณอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าสัก 2-3 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือต้องเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงยิ่ง เทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย อีกทั้ง ลักษณะพิเศษของทานสลากย้อมคือการนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพของงาน หรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณเป็นเรื่องตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติ และความดีงามของผู้ทานสลากย้อม ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการ เรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) นาคที่กำลังจะบวช ซึ่งตามประเพณีล้านนา จะมีการเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา บอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวชให้รู้ว่า เป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา

ส่วนขั้นตอนการถวายทานสลากย้อมที่นำมาทำบุญนั้น ประกอบไปด้วยต้นสลากย้อม ซึ่งจะถวายทานไว้ภายภาคหน้า และจะมีสลากเล็กหรือสลากภัตร สำหรับทานไปหาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะนำมาทำบุญตามจำนวนญาติที่เราจะถวายทานไปหา แล้วเขียนชื่อผู้ถวายทาน และชื่อผู้รับ หรือผู้ล่วงลับ (เรียกว่าเส้น) นำไปรวมกันในพระวิหาร เสร็จแล้วรอรับศีล รับพรจากพระสงฆ์ จากนั้นก็จะมีการแจกเส้น (รายชื่อของผู้ที่จะถวายทาน) แด่พระภิกษุสงฆ์ โดย 1 ก๋วยสลาก = 1 เส้น เมื่อได้รับเส้นถวายทานแล้ว พระสงฆ์ก็จะไปรับก๋วยสลากตามชื่อเจ้าของที่ระบุในเส้น โดยหลักๆ สิ่งของในสลากก็จะเป็นข้าวของเครื่องใช้ อาหาร เงิน ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับแรงศรัทธาของคนทำบุญ บางเส้นพระโชคดีได้ต้นใหญ่ของคนรวย คหบดี มูลค่าก็หลายหมื่น บางเส้นชาวบ้านธรรมดา ก็จะได้เงินสิ่งของรวมไม่ถึง 200 บาทก็มี ซึ่งประเพณีการตานก๋วยสลาก หรือสลากย้อม เป็นประเพณีเก่าแก่โบราณที่คนใน จ.ลำพูน แต่ละชุมชนยังคงยึดถือปฎิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

Advertisement

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image