นาค แม่น้ำโขง รากเหง้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ในระดับสากล คำบอกเล่าเรื่องนางนาค มีความสำคัญมาก ศ. ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ฝรั่งเศส และรวมถึงนักวิชาการตะวันตกจำนวนไม่น้อย ยกใช้อธิบายกำเนิดรัฐฟูนัน บริเวณปากน้ำโขง ระหว่างกัมพูชา-เวียดนาม

เอกสารจีนเรียกคำบอกเล่านี้ว่าเรื่องนางลิวเย่กับพราหมณ์โกณฑัญญะ ตรงกับนิทานพื้นเมืองเรื่องนางนาคกับพระทอง เป็นเชิงสัญลักษณ์ นางนาค หมายถึง ผู้นำพื้นเมือง ยกย่องหญิงเป็นใหญ่ ตระกูลมอญ-เขมร, ไต-ไท ฯลฯ พระทอง หมายถึง วัฒนธรรมจากชมพูทวีป คือ อินเดียนำเข้าโดยพ่อค้าทางทะเล พูดภาษามลายู

นางนาค พระทอง (บางทีเรียกสลับกันว่าพระทอง นางนาค) เป็นตำนานกำเนิดกัมพูชา และนครวัด-นครธม มีพลังสร้างสรรค์สูงมาก ต้นเหตุให้มีเพลงดนตรีนางนาค พระทอง เป็นมรดกตกทอดถึงราชสำนักอยุธยา นิยมใช้ร้องมโหรีในงานแต่งงาน

นาค (ทั้งเพศผู้เพศเมีย) มีคำบอกเล่าโลดโผนมากอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ (บอกความเป็นมาของพระธาตุพนม จ. นครพนม) เช่น เล่ากำเนิดแม่น้ำโขง, มูล, ชี, หนองหานหลวง (สกลนคร) และหนองหานน้อย (อุดรธานี)

Advertisement

การศึกษาไทยเข้าไม่ถึงสัญลักษณ์ในตำนาน

นิทานพื้นบ้านพื้นเมืองประจำถิ่นต่างๆ จึงกีดกัน บางทีตัดทิ้งวรรณกรรมคำบอกเล่าเรื่องนาคซึ่งมีพลังสร้างสรรค์สูงมาก ขณะเดียวกันยังเป็นร่องรอยบอกความเป็นมาและความสัมพันธ์ทางสังคมของคนตั้งแต่ลุ่มน้ำโขงลงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีหลักฐานสนับสนุนหนักแน่นทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ

“ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ของไทย เป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อธำรงอำนาจของคนชั้นนำภาคกลาง จึงขาดความเชื่อมโยงและสืบเนื่องกับอดีตที่เกิดในลุ่มน้ำอื่นๆ ภาคอื่นๆ ได้แก่ เหนือ, อีสาน, และใต้รวมมลายู ดังนั้นประวัติศาสตร์ไทยในสายตาของรัฐราชการภาคกลางจึงไม่มีนาคลุ่มน้ำโขง

Advertisement

ถ้าอยากรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยถึงรากเหง้าอย่างแท้จริง ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งคือนาคและนางนาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image