นักประวัติศาสตร์แนะกรมศิลปากร สร้างบรรทัดฐานป้องโบราณสถานทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และอดีตผู้อำนวยการสถานอารยะธรรมศึกษาโขง-สาละวิน เปิดเผยว่า การเข้ามรดกโลกแค่ทางผ่านจากประเทศไทยเข้าสู่ระดับสากล สิ่งสำคัญที่จะต้องพูดคุยกันใหม่ที่สุดคือกฎหมาย โดยต้องมาทบทวนกฎหมายว่าด้วยพลังงาน,โบราณสถานและมรดกโลก มีการซ้อนทับกันอยู่อย่างไร และกฎหมายไหนมีศักยภาพในการควบคุมปกป้องโบราณสถานก็ต้องยึดถือตามกฎหมายนั้นๆ และสัมปทานที่ให้ไปแล้วเมื่อไปขัดต่อกฎหมายหลักและกฎหมายโบราณสถานก็ต้องนำขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เกิดมาตรฐานมีระเบียบที่จะไประงับระบบ

ผศ.ดร.วศิน กล่าวต่อว่า วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องพูดในเชิงระบบแล้วเพราะเมืองโบราณศรีเทพผ่านกระบวนการเสนอมรดกโลกแล้ว แปลงว่าต้องมีกฎหมายรองรับความเป็นโบราณสถานตรงนี้อยู่ และถึงวันนี้คิดวาเป็นเรื่องของกฎหมายแล้ว กรมศิลปากรควรใช้กฎหมายที่เคร่งครัดเพื่อให้เกิดระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้หลุมขุดเจาะ STN-2 ที่ใกล้โบราณสถานเมืองโบราณศรีเทพตรงนี้ยุติอย่างถาวร เพราะเวลานี้กฎหมายมีความซ้ำซ้อนกันแล้วระหว่างกฎหมายโบราณสถานและกฎหมายว่าด้วยสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งจริงๆแล้วหากอิงกฎหมายโบราณสถานและเมื่อไปครอบอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะออกไปหมด และสัมปทานก็ควรต้องหมดสภาพไปโดยปริยาย

Advertisement

ผศ.ดร.วศิน กล่าวถึงกรณีกรมศิลป์อ้างว่าไม่สามารถใช้กฎหมายโบราณสถาน เข้าไปจัดการกับหลุมขุดเจาะ STN-2 โดยให้เหตุผลว่าอยู่นอกเขตประกาศพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจำเป็นต้องใช้การเจรจาว่า ก็ต้องมีการประกาศเขตโบราณสถานใหม่ตามอำนาจของกรมศิลปากร หากประกาศได้ก็ต้องเร่งประกาศขยายพื้นที่โบราณสถาน และต้องมีการออกระเบียบให้ครอบคลุมพื้นที่ที่จะปกป้องรักษา ส่วนการเจรจาประนีประนอมหากเปรียบเทียบที่ก็แค่เป็นแผลยังไม่ถูกเย็บ แต่ปิดไว้เฉยๆเดียวแผลก็เปิดอีก ฉะนั้นปัญหาวันนี้ก็คือแค่การปิดแผลไว้แต่ไม่ได้เย็บแผลเดี่ยวกันกลับมาปะทุอีก

เมื่อถามว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่าทางกรมศิลป์ เกรงอาจจะถูกฟ้องร้องจากบริษัทฯ หากยกเลิกโดยไม่มีเหตุผลและข้อกฎหมายรองรับ ผศ.ดร.วศินกล่าวว่า ก็ต้องถามว่าอย่างกรณีอัคราไมนิ่งเหมืองแร่ทองคำ หรือกรณีอื่นมีแนวปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเกินขอบเขตหรือศักยภาพไม่เพียงพอกรมศิลปากรก็ต้องบูรณาการกับฝ่ายกฎหมายหรือกฤษฎีกาให้เข้ามาช่วย ซึ่งประเทศไทยมีหลายหน่วยงานจะเข้ามาช่วยในการปกป้อง หรือแม้กระทั่งใช้อำนาจศาลพิทักษ์ปกปักษ์รักษาไม่ว่าจะเป็นการชะลอ ระงับ ยับยั้ง ณ วันนี้จึงคิดว่าต้องใช้กฎหมายเพื่อความยั่งยืนเพราะเพิกถอนจะเป็นการใช้กฎหมายแล้ว

Advertisement

 

ผศ.ดร.วศินกล่าวว่า เส้นทางจากนี้ไปของเมืองโบราณศรีเทพหลังจากเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกเบื้องต้นจะเป็นสัญญาณที่ดีก็ตาม แต่การยื่นเสนอต่อยูเนสโกต่อไปนั้น จะต้องมีทีมนำเสนอที่มีคุณภาพทั้งกรมศิลป์เองและยังมีกระทรวงต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องช่วยนำเสนอ และจากบทเรียนเขาพระวิหารหรือบทเรียนจากแหล่งอื่นทั้งที่ประสบความสำเร็จและยังไม่สามารรถจะผลักดันเข้าสู่มรดกโลกได้ วันนี้ทีมทำงานจะต้องทำงานหนักจะต้องทบทวนทั้งที่ชนะและพ่ายแพ้ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการที่จะนำพาเมืองโบราณศรีเทพก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ

“ทีมที่นำเสนอต้องเก่งและแม่นด้วย และการทำงานในอนาคตไม่ใช้ตัวใครตัวมันเอกแล้วต้องบูรณาการร่วมมือกัน ทำแผนแม่บทที่มีความชัดเจน และต้องมีความร่วมมือให้มากกว่านี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาและองค์กรภาคประชาชนต่างรวมทั้งประชาชนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาการทำงานยังอยู่แค่ระดับไม่กี่หน่วยงาน ซึ่งเวลานำเสนอขึ้นเวทีระดับโลก ควรจะต้องมีทีมงานคณะทำงานที่เป็นระบบและจริงจัง ที่สำคัญต้องมีรูปธรรมมากขึ้นกว่าเดิมด้วย”อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มน.กล่าว

อดีตผู้อำนวยการสถานอารยะธรรมศึกษาโขง-สาละวิน กล่าวอีกว่า ส่วนการเรียกหาสามัญสำนึกของบริษัทเอกชนนั้น ตรงนี้คงเลยขอบเขตไปแล้ว ส่วนการเจรจาและถอดถอนแบบนี้ก็เป็นแค่ชั่วคราว และเมื่อผ่านเวลาช่วงนี้ไปเดี่ยวก็กลับมาอีก โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มผู้บริหารใหม่มาอยากจะทำก็ทำได้อีกเพราะไม่ได้ถูกแก้โดยเชิงระบบ แต่เป็นการแก้ไขโดยการเจรจาประนีประนอมของกลุ่มผู้บริหารอีกกลุ่มกับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ซึ่งอาจจะกลับมาอีกไม่มีวันจบสิ้น และต้องเป็นแบบนี้ไปทั้งประเทศอีกหรือเปล่า แค่การประท้วงหรือการเจรจา ทำไมไม่มีแม่แบบหรือบรรทัดฐานแบบนี้ไม่ได้และควรต้องยกเลิกโดยระเบียบข้อไหน เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาให้กับโบราณสถานอื่นๆทั่วประเทศด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image