เปิดบันทึกฝรั่ง กรุงเทพฯ ‘แรกตั้ง’ มีประชากรกี่คน เผยสำเนียง ‘บางกอก’ ครั้งเป็นบ้านนอกของอยุธยา

21 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีได้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งสยามประเทศ โดยในยุคนั้น ยังไม่มีบันทึกชัดเจนว่า คนกรุงเทพ ฯ มีจำนวนเท่าไหร่

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน” บอกว่า อย่างไรก็ตาม สามารถคำนวณจากตัวเลขประมาณการของ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ขุนนางชาวอังกฤษ ที่เข้ามายังบางกอกในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังสถาปนากรุงเทพฯ 73 ปีว่า จำนวนประชากรทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสยาม มีไม่เกิน 5 ล้านคน เป็นประชากรของกรุงเทพ ไม่เกิน 3 แสนคน โดยการอ้างอิงแล้วคำนวนจากข้อมูลที่มีผู้บันทึกไว้ก่อนหน้า อย่างลาลูแบร์ และสังฆราชปัลเลอกัวซ์

 

คนกรุงเทพ ลอยเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
คนกรุงเทพ ลอยเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อสุจิตต์ วิเคราะห์ตัวเลขจากบันทึกดังกล่าวแล้วสันนิษฐานว่า ยุคต้นกรุงเทพฯ ย่อมต้องมีประชากรน้อยกว่านั้น โดยน่าจะมีเพียง 1-2 แสนคน เนื่องจากหลังสร้างกรุงแล้ว จึงมีการกวาดต้อนเชลยศึกและเกณฑ์ไพร่พลเข้ามาคราวละมากๆ เช่น

Advertisement

สมัยรัชกาลที่ 1 เกณฑ์คนจากเขมร ลาว
สมัยรัชกาลที่ 2 มีมอญเข้ามาสวาภิภักดิ์
สมัยรัชกาลที่ 3 กวาดต้อนลาวเข้ามาเพิ่มอีก

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกลุ่มชาวจีนที่ทยอยเดินทางเข้ามาในบางกอกอยู่เรื่อยๆ

กลุ่มคนเหล่านี้ ได้ตั้งรกรากอยู่อาศัย กลายเป็น “คนกรุงเทพ” และ “คนไทย” ในเวลาต่อมาสืบถึงทุกวันนี้

Advertisement

 

ตลาดท่าเตียน มีทั้งชาวจีน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่กลายเป็น "คนกรุงเทพ" และคนไทยโดยสมบูรณ์
ตลาดท่าเตียน มีทั้งชาวจีน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่กลายเป็น “คนกรุงเทพ” และคนไทยโดยสมบูรณ์

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของข้อความจากบันทึก เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง

บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ กล่าวถึงการสำรวจสำมะโนประชากรของทางการว่า ชาวสยามมิได้จำแนกประชากรที่เป็นชายชรา หรือสตรี หรือเด็ก ออกจากกันแต่อย่างใด สำหรับคำถามทั้งหมดที่ถามถึงจำนวนราษฎร คำตอบที่ได้คือ ชายจำนวนมาก ท่านได้ประมาณการว่าจำนวนโดยทั่วไปมี 5 เท่าของจำนวนที่ได้มีการบันทึกไว้….
ลาลูแบร์กล่าวว่า ในสมัยของท่านนั้น ประชากรของสยามคะเนได้ว่ามีอยู่ราว 1,900,000 คน แต่ท่านคิดว่าคงต้องลดยอดดังกล่าวลงบ้าง เพราะได้มาจากการตอบคำถามแบบขอไปทีและการพูดไม่จริงอันเป็นอุปนิสัยของคนตะวันออก”

ซ้าย เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ขวา สังฆราชปัลเลอกัวซ์
ซ้าย เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ขวา สังฆราชปัลเลอกัวซ์ ผู้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองและผู้คนชาวสยามไว้อย่างละเอียด

 

ข้อเขียนของเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งต่อมามูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2547
ข้อเขียนของเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง มีการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1857 ซึ่งต่อมามูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2547

สำหรับสำเนียงภาษาของชาวบางกอกนั้น ย้อนไปสมัยยุคกรุงศรีอยุธยา สำเนียงภาษาของคนบางกอกเป็นสำเนียงถิ่นย่อยๆ ของสำเนียงหลวงที่อยู่ในราชธานีกรุงศรีอยุธยา สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายรายละเอียดของสำเนียงหลวงยุคกรุงศรีอยุธยาว่ามีร่องรอยอยู่กับเจรจาโขน ซึ่งคนทั่วไปในปัจจุบันเรียกกันว่า “เหน่อ” คล้ายสำเนียงสุพรรณบุรีกับหลวงพระบาง

สำเนียงบางกอกของคนสมัยนั้นถูกคนในพระนครศรีอยุธยาที่ใช้สำเนียงหลวง (ซึ่งคนปัจจุบันมองว่า “เหน่อ”) เรียกว่า “บ้านนอก” และ “เยื้อง” เนื่องจากสำเนียงบางกอกไม่ตรงกับสำเนียงหลวงในสมัยนั้น

หลังจากกรุงแตก พ.ศ. 2310 ราชธานีย้ายจากพระนครศรีอยุธยาลงมาอยู่ที่ย่านบางกอกที่เมืองธนบุรี สำเนียงบางกอกก็ถูกยกเป็นสำเนียงหลวงสืบเนื่องถึงกรุงเทพฯตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนสำเนียงหลวงแบบดั้งเดิมก็ถูกเหยียดว่า “เหน่อ” แทน

ข้อมูลจาก

กรุงเทพมาจากไหน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2555
ราชอาณาจักร และราษฎรสยาม โดย เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2550

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image