ทานบดี โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2561 ผู้เขียนได้รับอนุญาตรับรองจากท่านสมเด็จพระธีรญาณมุนี ในการบรรพชาอุปสมบทตามโครงการอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย วันที่ 8-20 ธันวาคม พ.ศ.2561 ซึ่งผู้เขียนเป็นหนึ่งใน 95 คน ที่มีโอกาสเข้าโครงการอุปสมบทหมู่ ณ แดนพุทธภูมิ (อินเดีย-เนปาล) อันเป็นรุ่นที่ 20 และจะมีรุ่นที่ 22 ในเดือนเมษายน 2562 จะมีสมาชิกประมาณ 2,200 คน

สำหรับวัตถุประสงค์โครงการ ผู้เขียนได้เสนอไปแล้วในมติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2561 “วปก.20 วัดเทพศิรินทรา
วาส” หลังจากที่ไปอุปสมบทกลับมาแล้ว ได้รายงานผลการปฏิบัติศาสนกิจ โดยการนำของท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จพระธีรญาณมุนี ตลอดโครงการ 13 วัน ท่านดูแลอย่างใกล้ชิดมากโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยตลอดโครงการ ได้รายงานในหนังสือมติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ 13 และ 20 มกราคม พ.ศ.2562 นับแต่วันเริ่มต้นถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2562 รวมเป็นเวลา 4 เดือน สมาชิกทุกคนทั้ง 95 ชีวิตยังประทับใจ ซาบซึ้งที่ได้ร่วมในโครงการนี้ของเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ ในการปฏิบัติศาสนกิจ 2 ประการ คือ 1) คันธุระ 2) วิปัสสนาธุระ จนถึง
ปัจจุบันนี้

ช่วงแรกที่ผู้เขียนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทุกคนรับรู้ได้ว่าเป็นโครงการที่มีผู้ “ใจบุญ” มีจิตเมตตาบริจาคสนับสนุนด้วยศรัทธาที่ดีต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยผู้บวชทุกคนทั้ง 95 รูป ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย ขอให้ทุกคนที่บวชมีกายกับใจให้พร้อมเท่านั้น ทุกคนที่ได้ร่วมบวชครั้งนี้ และทราบว่า
19 ครั้งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก “นายวิชัย ศรีวัฒนประภา” อดีตประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่รู้จักมาก่อน รู้เพียงจากข่าวจากสื่อต่างๆ และได้มีโอกาสไปร่วมงานฟังสวดพระอภิธรรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2562 ซึ่งในวันรุ่งขึ้น คือวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2562 จะมีการพระราชทานเพลิง ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมี “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิง เวลา 16.00 น.
วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2562 พบว่ามีแขกผู้ใหญ่และแขกต่างประเทศ มามากมาย เป็นที่น่าปลื้มปีติเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนได้รับหนังสือ “อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงนายวิชัย ศรีวัฒนประภา” จากคุณจูน เพื่อนที่บวช วปก.20 ด้วยกันนำมาให้และได้อ่าน 2-3 รอบ โดยเฉพาะได้อ่าน “สาสน์ไว้อาลัย” ในงานพระราชทานเพลิง “นายวิชัย ศรีวัฒนประภา” อดีตประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประมาณ 60 แผ่น 120 หน้า ซึ่งผู้มีเกียรติมากมายหลายท่าน เกือบ 100 ท่าน และเห็นมีคุณค่าและประโยชน์ ด้านหลังเป็น “บทสวดมนต์” ต่างๆ หน้า 1-333 ตามรอยแห่งพระธรรม บทที่ 1 พุทธประวัติ หน้า 359 ถึงบทที่ 8 ธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หน้า 517 บทธรรม-คำครูฯ หน้า 518-531 มีส่วนสำคัญที่ผู้เขียนคิดว่ามีประโยชน์ และมีคุณค่าแก่การเผยแพร่ความว่า…

Advertisement

สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้เขียนหนังสือ “อนุสรณ์” ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2562 หัวข้อว่า “ทานปติปรารภ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทานพระอนุศาสนีถึงอานิสงส์ของการเป็นทานบดี ผู้รู้จักเสียสละให้สิ่งประณีตเป็นทานอย่างสม่ำเสมอไว้ในอุทัยสูตร ความว่า “กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อย แล้วก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ”

คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาอย่างยิ่งในพระบวรพุทธศาสนา นับแต่ข้าพเจ้ารู้จักมาแต่ต้นจนวาระที่สุดแห่งชีวิตท่าน ทำให้ได้ตระหนักแก่ตาแก่ใจตนเองว่า ผู้วายชนม์เป็นทานบดีผู้ให้บ่อยๆ เป็นนิพัทธจริยา ไม่มีครั้งใดที่ท่านจะปฏิเสธบุญ มีแต่ขวนขวายปวารณาตนที่จะให้โดยปราศจากความตระหนี่ ทั้งยังมีกัลป์ยาณัธยาศัยเป็นที่น่านิยมนับถือของผู้คนทั่วไป ไม่เป็นผู้เย่อหยิ่งลำพองตน มีกมลอ่อนโยนแต่หนักแน่นในพรหมวิหารธรรมสม่ำเสมอ จึงเป็นที่รักและนับถือของมหาชน บุญที่ทานบดีได้บำเพ็ญไว้บ่อยๆ ฉะนี้ ย่อมเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐ เป็นสหายที่แท้ที่จะติดตามไปเกื้อหนุน คอยเป็นที่พึ่งเป็นเครื่องยังความสุขความยินดีมาให้ในสวรรค์ อันคุณวิชัยสามารถเข้าถึงได้ สมตามพระพุทธานุศาสนี

ขอผลานิสงส์แห่งกุศลจริยาที่ผู้วายชนม์บำเพ็ญมาแล้วด้วยดีตลอดชีวิต ประกอบกับกุศลทักษิณานุประทานกิจที่ญาติมิตรบริวารบำเพ็ญอุทิศ จงประสิทธิ์ทิพยสุขสู่ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วนั้น ให้ประสบความสวัสดีเกษมศานต์ใน
อุปบัติภพ ตามสมควรแก่คติวิสัยทุกประการ เทอญ สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

Advertisement

ส่วนที่ 2 “บทธรรม คำครูฯ” ที่รวบรวมอยู่ท้ายเล่มของ “พระอริยสงฆ์” หรือเกจิอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เป็นต้น มีทั้งหมด 36 ข้อ ดังนี้

1.ศีลเป็นกำลังไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธสูงสุด ศีลเป็นเครื่องประดับอย่างวิเศษสุด ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์ ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้ ศีลเป็นคุณรวมกำลังอย่างเลิศ ศีลเป็นเสบียงเดินทางอย่างสูงสุด ศีลเป็นผู้นำอย่างประเสริฐ เพราะศีลมีกลิ่นขจรเป็นทั่วทุกทิศ ศีลเป็นสะพานอันมีศักดิ์ใหญ่ ศีลเป็นกลิ่นที่ไม่มีกลิ่นอื่นยิ่งกว่า ศีลเป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐขจรไปทั่วทุกทิศ ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา ท่านว่าศีลนั่นเทียบเป็นความดี ศีลเป็นเยี่ยมในโลกและปราชญ์พึงรักษาศีล
2.“…สติมีความสำคัญที่สุด สติมีหน้าที่ตัดสินว่าจะให้กิเลสชนะเหตุผล หรือจะให้เหตุผลชนะกิเลส…” : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

3.คนเราเมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ เมื่อมียศก็มีเสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญ ก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดี มันก็ติ ถึงจะชั่วแสนชั่ว มันก็ชม นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดา ยังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกธรรมดังกล่าว แล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่า เขาติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไร เราคิดแล้วว่าไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราและคนอื่นเราจึงทำ เขานินทาใส่ร้ายอย่างไร ก็ช่างเขา บุญเราทำ กรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวล กลัวใครติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่าๆ : เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ) วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

4.ในพวกนี้เราชาวสยามนี้ ควรเห็นได้ว่าเป็นคนมีบุญมาก เกิดมาได้พบพุทธศาสนาทีเดียว ด้วยบรรพบุรุษพาถือมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว อย่าพากันมีความประมาท พึงตั้งใจปฏิบัติให้เห็นผลจนรู้สึกตัวว่า เรามีที่พึ่งอันใดแล้ว จึงจะเป็นคนที่ไม่เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา อะไรเป็นปัจจัยของอวิชชา เรานั่นแหละเป็นปัจจัยของอวิชชา อะไรเป็นปัจจัยของเรา อวิชชานั่นแหละเป็นปัจจัยของเรา ถ้ามีอวิชชาก็มีเรา ถ้ามีเราก็มีอวิชชา ตำราแบบแผนมิใช่ยา ยามิใช้ตำราแบบแผน ความไข้ไม่ได้หายด้วยยาอย่างเดียว ต้องอาศัยกินยานั้นด้วย ไข้จึงหาย : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส แขวงรองเมือง กรุงเทพมหานคร

5.“ธรรมะก็มีอยู่ในกาย เพราะกายมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธเจ้าและพระสาวกเจ้าทั้งหลาย ท่านได้เสียสละ เช่น ความสุขอันเป็นไปราชสมบัตินั้น พระองค์ท่านผู้มีคนยกย่องสรรเสริญ คอยปฏิบัติวัตรฐากแล้วได้เสียสละมานอนกับดินกับหญ้า ใต้โคนต้นไม้ถึงกับอดอาหาร เป็นต้น การเสียสละเหล่านี้เพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อให้ได้ถึงซึ่ง
วิโมกขธรรม คือ ธรรมะ เป็นเครื่องพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ก็ทรงนั่งสมาธิใต้ร่มไม้ อันเป็นสถาที่สงบสงัด และทรงได้พิจารณาซึ่งความจริง คือ อริยสัจ 4 นี้เป็นมูลเหตุอันเป็นเบื้องต้นของพระพุทธเจ้า” : หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

6.ปัจจุบันเท่านั้นที่ไม่สุดวิสัย “สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งของที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจในส่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปมิได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็เป็นสิ่งไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นที่จะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย : หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

7.คนมีสัจจะ มักจะทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ เพราะสัจจะเป็นบารมีอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้กำลังใจเข้มแข็งมากขึ้น : หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

8.“ธรรมะ…ท่านสอนให้ดูตัวเอง ระวังตัวเองจะได้เห็นความบกพร่องของตัวเอง และแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนสมบูรณ์ได้” : พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี)

9.ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เป็นทิพย์ มิได้เป็นรูปร่างที่มองเห็นด้วยตาเนื้อ…แต่ธรรม…เป็นธรรมชาติอันละเอียด สุขุม สุดที่จะนำมาเปรียบเทียบกับของสมมติทั้งหลายได้ “ใจ” นี้แหละเป็นที่สถิตของธรรม : พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิติธัมโม) วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

10.“…เราท่านทั้งหลาย เราจึงเป็นผู้ที่มีความดี เรียกว่ามีความโชคดี มีความดีอย่างยวดยิ่ง หรือเรียกว่า อย่างยิ่งยวด ที่เราได้มีศรัทธามาปฏิบัติ พบพระพุทธศาสนาได้พากันเดินทางถูกต้อง ได้พากันสะสม อบรมความดีต่างๆ ทั้งในด้านการบริจาคทั้งด้านการรักษาศีล ตลอดจนการดำเนินจิตนี้ จึงเป็นหนทางที่จะให้ถึงซึ่ง วิมุติ คือ ความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้…” : พระเทพเจติยาจารย์
(หลวงปู่วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร

11.“คำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมด มาลงอยู่ที่สติอันเดียว ตั้งแต่เบื้องต้นก็สอนสติ ที่สุดก็สอนสติ เป็นศาสนาที่สอนถึงที่สุด อย่าให้จิตอยู่แต่ในอำนาจของกิเลส ให้จิตอยู่ในอำนาจของสติ สติเป็นตัวระมัดระวัง อันนั้นแหละเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้ มีสติสมบูรณ์บริบูรณ์ก็เรียกว่า ถึงศาสนา” :
พระ
ราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฐ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
12.“หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม” : พระราชวุฒาจาย์ (หลวงปู่ดุล อตุโล) วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งคนใน วปก. รุ่น 1 ถึงรุ่น 22 ประมาณ 2,200 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการอุปสมบทหมู่ ปฏิบัติธรรมและจาริกแสวงบุญ ในร่มพระบารมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล สิ่งที่ได้ในการ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านคุณธรรม” มีค่าสูงยิ่งมากเกินกว่าจะประมาณการเป็นเงินได้ ด้วยการอนุเคราะห์ เมตตา จากท่านที่เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ระบุว่า ท่าน คือ “ทานบดี” เป็นผู้ที่มีแต่ให้สม่ำเสมอ ด้วยจิตบริสุทธิ์ สอดคล้องกับ “คติธรรม” ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ 1) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ “ใจ” ใจประเสริฐสุดสำเร็จด้วย “ใจ” และ 2) ถึงเหน็ดเหนื่อย เพียงใด ใจไม่ท้อ หวังเพียงก่อสร้างบุญไว้ ในพระศาสนา อุปัชฌาย์ เจ้าให้เป็น “ลูกพระศาสดา” ดำรงพระศาสนา ให้คงอยู่
คู่โลกเอย

และสุดท้ายนี้ลูกศิษย์ วปก. (วิทยาลัยป้องกันกิเลส) ทุกคนที่ได้ผ่านการปฏิบัติตามเกณฑ์ของท่านเจ้าประคุณ “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” แล้ว เพียงขอให้ลูกๆ ทุกคน เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมะเท่านั้นที่พ้นจากทุกข์ได้ อยากรวยให้พากันทำทานอยากสวยให้พากันรักษาศีล อยากดีให้พากันเจริญภาวนา ข้าฯ จะมีเกินใช้ แต่ไม่ใช้เกินมี ชีวิตนี้สั้นนัก เตือน “ลูก” ทุกคนทำความดี ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้จะไม่มีโอกาสได้ทำ ด้วยอานิสงส์ผลบุญของ… “นายวิชัย ศรีวัฒนประภา” ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้ระบุไว้ตอนแรกใน “ทานปติปรารภ…คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา” ว่า…สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทานพระอนุศาสนีถึงอานิสงส์ของการเป็น “ทานบดี” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image