พระแท่นราชบรรจถรณ์ ภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการ การสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จออกมหาสมาคม และการประกาศพระองค์เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน และเสด็จเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในเวลา 18.19-20.30 น.

ทั้งนี้ การเฉลิมพระราชมณเฑียร คือ การเฉลิมหรือสมโภชพระราชมณเฑียร ซึ่งได้แก่หมู่พระมหามณเฑียรซึ่งมีทั้งส่วนสำหรับว่าราชการ ได้แก่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน และส่วนที่เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ได้แก่ บริเวณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยขั้นตอนการพระราชพิธีก่อนหน้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จะประกอบพระราชพิธีต่อเนื่องกับการเสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งจะประกอบการพระราชพิธีทั้ง 2 ส่วนของพระมหามณเฑียร โดยจะเริ่มจากบริเวณส่วนที่ประทับก่อน แล้วจึงเป็นการเวียนเทียนสมโภชในบริเวณท้องพระโรงอันเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการเฉลิมพระราชมณเฑียร

ในพิธีครั้งนี้ มีการเชิญเครื่องราชูปโภค และสิ่งของอันเป็นมงคลทั้ง 6 สิ่งได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด ฟักเขียว ขันข้าวเปลือก ขันถั่วทอง และขันงา จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะลงบรรทมบนพระแท่นเป็นปฐมฤกษ์ ก่อนที่พระบรมวงศานุวงศ์จะถวายพระพร มีการเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียร ซึ่งประกอบพระราชพิธีที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

Advertisement

สำหรับสิ่งของที่เป็นเครื่องประกอบพระราชพิธี ล้วนมีความหมายอันเป็นมงคลสำหรับที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์ โดยมีความหมายดังนี้

วิฬาร์ (แมว) แสดงถึง ความโชคดี มีลาภ ร่มเย็นเป็นสุข อันสอดคล้องกับคติความเชื่อของไทยที่ว่า แมวหมามาสู่จะมีลาภ อีกทั้งยังเชื่อว่าแมวสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจ และสิ่งชั่วร้าย เพราะแมวมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในเวลากลางคืน หรือความเชื่อที่ว่า แมวมีเก้าชีวิต หมายถึงความยั่งยืนสถาพร และเป็นอมตะ

ศิลาบด เป็นของใช้ในครัวเรือน ใช้บดเครื่องแกง หรือเครื่องปรุงอาหารต่างๆ การนำศิลาบดมาใช้ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร มีความหมายสอดคล้องกับการแสดงความยินดีในการขึ้นเรือนใหม่ ด้วยการมอบเครื่องครัว และพันธุ์พืช แก่เจ้าของเรือนนั้น หรือเกี่ยวข้องกับคำให้พร อันแสดงถึงความเจริญงอกงาม และมีความมั่นคงที่ว่า “ให้อยู่เย็นเป็นสุขดั่งอุทกธารา และฟัก ให้มีน้ำใจหนักหน่วงดุจศิลา ขอให้ถั่วงางอกงามบริบูรณ์” ศิลาดังกล่าวนั้น หมายถึงศิลาบด

Advertisement

ฟักเขียว หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุข และถั่วงา หมายถึงความเจริญงอกงาม เช่นเดียวกับข้าวเปลือกที่มีความหมายเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งของที่มีความหมายดีแก่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงเฉลิมพระราชมณเฑียร หรือผู้ที่ขึ้นเรือนใหม่ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งของอันมีความหมายมงคลที่ใช้ในการพระราชพิธีดังกล่าวอีกคือ ดอกหมาก หรือจั่นหมาก บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะดอกหมาก หรือจั่นหมากมีลักษณะเป็นพวงเมื่อออกผลจำนวนมากเรียกเป็น ทะลาย แสดงถึงความรุ่งเรือง มีทรัพย์ศฤงคาร เช่นเดียวกับดอกมะพร้าว หรือจั่นมะพร้าว ที่ใช้ประดับสถานที่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มีความหมายเดียวกัน อีกสิ่งที่ปรากฏอยู่เสมอในการเฉลิมพระราชมณเฑียรคือ กุญแจทอง มีความหมายถึงการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าของบ้านใหม่ ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งของอันเป็นมงคลสำหรับการพระราชพิธียังมีมากขึ้นในรัชกาลต่อมา ได้แก่ พระแส้หางช้างเผือกผู้ เริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งแส้นั้นเป็นเครื่องใช้สำหรับปัดฝุ่นละออง การใช้หางช้างเผือกมาทำพระแส้นั้น แสดงถึงสิ่งของอันเป็นมงคล มากด้วยบารมี เนื่องจากช้างเผือกถือเป็นสัตว์คู่บารมีเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี อันอาจสอดคล้องกับการสร้างครอบครัวใหม่ที่มีการมอบสัตว์เพื่อช่วยเหลือเจ้าของบ้าน ซึ่งไก่นับเป็นสัตว์เลี้ยงสารพัดประโยชน์ ทั้งบอกเวลา และเลี้ยงไว้กินไข่ ผสมผสานกับคติความเชื่อของจีนที่ว่า ไก่ขาวสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image