นัก ปวศ.ชี้ ‘ผิดแต่ต้น’ ราชภัฏอยุธยาสร้างตึกคร่อมคลองโบราณ ชื่นชมกรมศิลป์ไม่ยอมถอย

นัก ปวศ.ชี้ ‘ผิดแต่ต้น’ ราชภัฏอยุธยาสร้างตึกคร่อมคลองโบราณ ชื่นชมกรมศิลป์ไม่ยอมถอย

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม สืบเนื่องกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างอาคารคร่อมแนวคลองประตูเทพหมี ซึ่งเป็นคลองโบราณ ใกล้บ้านเดิมพระเพทราชา โดยกรมศิลปากรมีมติที่ประชุมขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนตั้งแต่ พ.ศ.2560 อีกทั้งมีการชี้แจงประเด็นดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก สมัยประชุมที่ 43 ที่เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-10 ก.ค. ที่ผ่านมา

อ่านข่าว : สร้างตึกคร่อมคลองโบราณใกล้บ้านพระเพทราชา กรมศิลป์สั่งระงับ-จี้รื้อ 2 ปีไม่คืบ (คลิป)

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า ถ้าพูดตามกฎหมาย ต้องตรวจสอบว่าคลองเทพหมีอยู่ในสถานะใด เคยถูกประกาศเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ หรือเป็นคลองอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม โดยตัวมันเองเป็นโบราณสถานอยู่แล้ว สำนึกของหน่วยงานการศึกษาไม่ควรสร้างสิ่งรุกล้ำ ใน มรภ.พระนครศรีอยุธยาก็มีโบราณสถานหลายแห่ง อาทิ วัดบรมพุทธาราม, วัดสิงหาราม และวัดสวนหลวงค้างคาว นับเป็นย่านใหญ่ มรภ.พระนครศรีอยุธยาน่าจะทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวควรทำเป็นเขตอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งศึกษา การสร้างอาคารคร่อมแนวคลองเทพหมีจึงผิดตั้งแต่แรก สิ่งที่ควรทำคือรื้อถอนอาคาร แต่เข้าใจว่าอาจติดขัดในระบบราชการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วนะ

Advertisement

“คลองเทพหมีเป็นโบราณสถานด้วยตัวมันเอง การสร้างอาคารตรงนี้ก็ผิดเต็มๆ ถ้าพูดอย่างไม่ตัดขัดระบบราชการ ก็ต้องรื้อทิ้งตามหลักการว่าเป็นสิ่งที่รุกล้ำเขตโบราณสถาน ผู้บริหารต้องหาช่องทางดำเนินการโดยเร็ว แต่เข้าใจว่าติดขัดระบบราชการ จึงยังค้างอยู่เช่นนี้เพราะจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว จึงอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่ทราบจะทำอย่างไรได้ งบจะทำอย่างไรเมื่องานไม่เสร็จตามเป้าหมาย จึงย้อนไปสู่ข้อแรกคือ เจ้าของพื้นที่ที่มีโบราณสถานอีกทั้งเป็นหน่วยงานการศึกษาต้องไม่สร้างตั้งแต่ต้น การที่กรมศิลปากรขอให้ระงับและรื้อถอนเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการดูแลโบราณสถาน” ผศ.ดร. ประภัสสร์กล่าว

คลองเทพหมี ถูกตึก มรภ.พระนครศรีอยุธยาสร้างคร่อม

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ พ.ศ.2550 กล่าวว่า พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาถูกบุกรุกโดยสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ไม่เฉพาะ มรภ.พระนครศรีอยุธยา ในอดีตตึกสูงถูกห้ามเฉพาะพ่อค้า ซึ่งตนมองว่าหากจะห้ามต้องใช้มาตรฐานเดียวกันและปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ปัญหาคือที่ผ่านมาหลังก่อตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ไม่มีการทำให้เป็นระบบ ไม่มีมาตรการที่ชัดเจน แม้แม้กระทั่งเรื่องเพนียดคล้องช้างก็มีปัญหา สำหรับอาคารที่สร้างคร่อมแนวคลองเทพหมี ตนเคยเดินทางไปดูแล้ว พบว่าอยู่ห่างจากตัวสะพานพอสมควร อย่างไรก็ตาม หากจะรื้อก็ต้องรื้ออีกหลายแห่ง แต่ถ้าจะสร้างต่อก็ต้องมีเงื่อนไข

“ถ้าจะรื้ออาคารนี้ จะต้องรื้ออีกเท่าไหร่ แต่ถ้าจะสร้างต่อ ต้องมีเงื่อนไข มีข้อตกลง ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะราชภัฏแห่งเดียว ผมไปดูแล้ว มีปัญหาทั่วไป พื้นที่ถูกรุกไปหมดแล้ว อาคารราชการต่างๆ เยอะแยะมาก นี่พูดอย่างเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นจะปฏิบัติ 2-3 มาตรฐาน ดังนั้น ต้องมาดูว่าพื้นที่นี้จะต่อรองอย่างไร ไม่ใช่แค่สะพานเทพหมี แต่บริเวณนั้นเป็นกลุ่มโบราณสถาน จริงๆ แล้วส่วนดีของราชภัฏก็มี คือมีการเคลียร์พื้นที่โบราณสถานให้ชัดเจนขึ้น ทางที่ดีควรหาความร่วมมือ จัดการพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ รักษาความสะอาด ให้คนมาท่องเที่ยว ตรงนั้นเป็นเขตอนุรักษ์ มรภ.ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว

Advertisement

สำหรับอาคารดังกล่าวได้สร้างคร่อมแนวคลองโบราณ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานก่อด้วยอิฐเรียก ชื่อว่า สะพานเทพหมี (อ่านว่า เทบ-พะ-หมี) โดยในขณะนี้ยังไม่มีการรื้อถอนตัวอาคารตามคำขอของกรมศิลปากร แต่ไม่มีการดำเนินงานก่อสร้างแล้ว โดยปล่อยทิ้งร้าง ถูกล้อมด้วยรั้วสังกะสี มีวัชพืชขึ้นปกคลุมบางส่วน ความคืบหน้าเกือบแล้วเสร็จทั้งโครงสร้างอาคาร หลังคา และประตูหน้าต่าง แต่ยังไม่มีการฉาบปูนและตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า จุดประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นอาคารเรียนใน 4 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมศิลปากรเผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ครั้งที่ 9/2560 วันที่ 4 ตุลาคม 2560 ระบุข้อมูลที่ มรภ.พระนครศรีอยุธยาขอให้กรมศิลปากรทบทวนคำสั่งระงับการก่อสร้างอาคาร มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คณะกรรมการวิชาการ พิจารณากรณี มรภ.พระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างอาคารเรียนศิลปกรรมศาสตร์คร่อมทับแนวคลองโบราณโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร โดยกรมศิลปากรมีหนังสือ ที่ วธ.0401/1029 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน ต่อมา มรภ.พระนครศรีอยุธยามีหนังสืออุทธรณ์ กรมศิลปากรจึงมอบหมายกลุ่มนิติกร สำนักบริหารกลางพิจารณาตอบข้ออุทธรณ์ดังกล่าว มรภ. พระนครศรีอยุธยาได้เสนอแบบแก้ไขโดยตัดแนวอาคารที่ทับคลองประกอบการพิจารณาคำอุทธรณ์ กระทั่งมีมติที่ประชุมเห็นสมควรยืนยันตามหนังสือ ที่ วธ. 0401/1029 ให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอน จึงไม่มีการพิจารณารูปแบบแก้ไขที่ มรภ.ส่งมา

กระทั่งในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างปลายเดือนมิถุนายน-10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ร้องขอให้ไทยติดตามแผนการดำเนินการตามคำสั่งรื้อถอนอาคาร มรภ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอาคารเรียนรวมสำหรับสาขานาฏยศิลป์ สาขาศิลปการแสดง สาขาศิลปกรรม รวมถึงสาขาดนตรีไทยและดนตรีสากล เรียกรวมว่าศิลปกรรมศาสตร์ โดยไม่ใช่คณะวิชาแต่อย่างใด ในแบบแปลนมีโรงละคร ห้องจัดนิทรรศการ ห้องเรียน และพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันใน 4 สาขาวิชาดังกล่าวซึ่งผ่านมาต้องใช้ห้องเรียนของคณะวิชาต่างๆ โดยไม่มีอาคารเรียนของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image