เปิดข้อมูลขุดวังโบราณ ไม่พบชั้นไฟไหม้ช่วง ‘กรุงแตก’ ขัดแย้งปมพม่าเผาอยุธยา

เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมานาน สำหรับแนวคิดทฤษฎีเรื่องเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งข้อมูลเดิมเชื่อว่าถูกเผาไฟลอกทองโดยพม่าตอนกรุงศรีอยุธยาแตก กระทั่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง นำเสนอแนวคิดใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน โดยเปิดเผยในหนังสือ ‘พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก’ แค่นั้นไม่พอ ยังตั้งข้อสังเกตอันลือลั่นในแวดวงวิชาการช่วงนั้นว่าเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือ “เศียรพระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยา จนเกิดทั้งดราม่า และการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ (ย้อนอ่าน เชื่อไหม? พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก !)

ล่าสุด มีข้อมูลอัพเดทสดๆร้อนๆ จากการศึกษาของ ศุทธิภพ จันทราภาขจี นักโบราณคดี กรมศิลปากร ผู้ทำการขุดค้นในวัดพระศรีสรรเพชญ์ เขียนบทความ ‘ร่องรอยพระราชวังหลวงสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง’ ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘Ayutthaya Underground ประวัติศาสตร์อยุธยาจาก วัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ’ โดยสำนักพิมพ์มติชน เปิดเผยในตอนหนึ่งถึง ‘หลักฐานไฟไหม้พระราชวังหลวงเดิม’ โดยระบุว่าอาจเกี่ยวข้องกับการ ‘ปรับพื้นที่’ นอกจากนี้ ยังมีการพบ ‘ชิ้นส่วนไม้ ไหม้ไฟ’ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่ามีอายุในช่วงก่อนสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา คือช่วงก่อน พ.ศ.1967

เนื้อหาส่วนหนึ่ง ดังนี้

Advertisement

‘เมื่อขุดค้นลงไปที่ความลึก 180-280 เซนติเมตรจากผิวดินปัจจุบัน ได้พบชั้นดินสีเทาปนแดง เนื้อดินคล้ายขี้เถ้า แสดงว่าพื้นที่นี้จะต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเผาไฟซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการปรับพื้นที่ โดยชั้นดินนี้มีความหนาประมาณ 1 เมตร …

จากนั้นเมื่อขุดลึกลงไปภายในชั้นดินนี้ ดินจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดงของศิลาแลง และเมื่อขุดลึกลงไปเพียง 5 เซนติเมตรเท่านั้น จะพบแนวศิลาแลงวางเรียงตัวกันเข้าไปทางผนังทิศเหนือจำนวน 6 แผ่น ซึ่งสอดตัวเข้าไปอยู่ใต้วิหารพระโลกนาถ หรือยื่นออกมาจากผนังหลุมขุดค้นด้านทิศเหนือประมาณ 1 เมตร เหนือแนวศิลาแลงนี้เล็กน้อยพบแผ่นไม้ถูกไฟไหม้ฝังอยู่ในผนังทิศใต้ น่าสังเกตว่าแผ่นศิลาแลงดังกล่าวแสดงถึงความจงใจในการวาง คงเป็นฐานของอาคารหรือพื้นที่ก่อสร้างอะไรสักอย่างหนึ่ง

ปกติแล้วศิลาแลงไม่ได้เป็นของที่หาได้ในพื้นที่ของกรุงศรีอยุธยา ต้องนำมาจากที่อื่น เช่น สระแก้ว หรือปราจีนบุรี อีกทั้งศิลาแลงยังเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นส่วนมาก เช่น วัดมหาธาตุ หรือวัดราชบูรณะ ส่วนขี้เถ้าและแผ่นไม้ไหม้ไฟที่พบ คงสัมพันธ์กับเหตุการณ์ไฟไหม้สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร…’

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวไม่ปรากฏข้อมูลของชั้นไฟไหม้ในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อ พ.ศ.2310 เลย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเขียนโดย นรุตม์ โล้กูลประกิจ นักโบราณคดีอิสระ ในบทความ ‘ชีวประวัติของพระราชวังหลวงจากหลักฐานโบราณคดี’ ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มเดียวกัน ระบุว่า ไม่มีการพบร่องรอยที่แสดงถึงไฟไหม้รุนแรงในพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์เลย

ความตอนหนึ่ง ดังนี้

‘อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ สังคมไทยมักเข้าใจกันว่าพม่าเผากรุงศรีอยุธยาในสงครามคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ทำให้ปรากฏภาคของปราสาทและพระราชวังที่ถูกเผาตามสื่ออยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ผลจากการขุดค้นในเขตพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์กลับไม่พบชั้นดิน ชั้นถ่าน ชั้นขี้เถ้า รวมถึงร่องรอยการเผาไหม้อย่างรุนแรงปรากฏบนโครงสร้างสถาปัตยกรรมและในชั้นดินที่แสดงถึงร่องรอยไฟไหม้ครั้งใหญ่แต่อย่างใดเลย

ดังนั้น เรื่องนี้อาจสรุปได้ 2 ประการ คือ ประการแรก พม่าไม่ได้ทำการเผาพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์อย่างรุนแรงตามจินตนาการในสมัยหลัง หรือประการที่ 2 ชั้นดินและหลักฐานที่แสดงถึงการเผาที่ว่านั้น ได้หายไปพร้อมกับการขุดแต่งและบูรณะเมืองโบราณอยุธยานับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงช่วงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ฉะนั้นหากตัดข้อสันนิษฐานชุดหลังว่าร่องรอยการเผาไหม้ของพระราชวังหลวงหายไปพร้อมกับการขุดค้นในสมัยหลัง หากมีการเผาสิ่งก่อสร้างครั้งใหญ่และรุนแรงในพระราชวังหลวงจริง ก็ควรเหลือร่องรอยของชั้นถ่านและร่องรอยการเผาปรากฏตามโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่บ้าง ซึ่งถ้าเชื่อตามข้อสันนิษฐานประการแรก ย่อมหมายความว่าการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยทลายมายาคติในเรื่องพม่าเผากรุงศรีอยุธยาจนวอดวายได้

ชั้นอิฐจากแหล่งโบราณคดีวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภาพโดย นรุตม์ โล้กูลประกิจ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image