ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่อง ‘กำแพงเพชร’ ชี้หัวใจไม่ใช่ ‘การเมือง’ แต่เป็น ‘การค้า’

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีการบันทึกเทปรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน มหัศจรรย์มหาศิลาแลงเมืองกำแพงเพชร

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธาน บมจ. มติชน กล่าวว่า ตนเคยเดินทางมายัง จ.กำแพงเพชร ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยขึ้นรถไฟลงสถานีพิษณุโลก แล้วนั่งรถประจำทางต่อ แต่ถูกหลอกให้ลงระหว่างทาง ตัองเจองูเป็นฝูง สุดท้ายรอดมาได้ วันนี้มาอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พบว่าได้รับการดูแลอย่างดี สะอาดเรียบร้อย ถือว่ามีความพยายาม แม้เพิ่งเจอพายุฝน นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ควรสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก โดยสามารถเที่ยวแบบเป็นกลุ่ม 3 เมือง คือ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร สามารถนอนพักที่จังหวัดใดก็ได้ อีกทั้งควรเปิดให้มีกิจกรรมที่สร้างชีวิตให้วัดวาอารามที่เป็นโบราณสถาน เช่น อนุญาตให้จัดสวดมนต์ในคืนเดือนหงาย และช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้คนเดินทางมาเยี่ยมชม เพิ่มความสมบูรณ์ทางใจ เพราะคนกำแพงเพชรส่วนหนึ่งก็ยังไม่เคยเข้าชมอุทยานฯ ซึ่งด้วยสถานที่มีความสวยงาม เก่าแก่ เหมาะสมที่สุด

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน กล่าวว่า ชื่อ ‘กำแพงเพชร’ เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก สื่อถึงการเป็นเมืองที่ทีกำแพง ป้อมปราการประหนึ่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ซึ่งมีกำแพงสร้างจากแก้ว สำหรับประวัติศาสตร์ที่ตนจะเล่ามีความแตกต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย โดยตนไม่เน้นประวัติศาสตร์ศิลปะแบบเจ้าอาณานิคมอย่างที่นิยมกัน แต่เริ่มต้นตั้วแต่เมื่อครั้งยังเป็นชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว ต่อมาเป็นชุมชนการค้าชั่วคราวบนเส้นทางคมนาคมยุคการค้าโลก เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว กระทั่งเป็น ‘เมืองสองฝั่งน้ำ’ ในอำนาจรัฐอยุธยา-สุพรรณภูมิ เมื่อราว 600 ปีก่อน เป็นต้น

Advertisement

นายสุจิตต์ กล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่เอ่ยถึงเมืองกำแพงเพชร คือ ‘จารึกฎหมายลักษณะโจร’ พ.ศ.1940 ซึ่งระบุถึงการขึ้นเสวยราชย์ของ ‘เจ้านครอินทร์’ โดยทำพิธีบรมราชาภิเษกที่เมือง ‘กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์’

Advertisement

นายสุจิตต์ กล่าวว่า หัวใจของเมืองไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่อยู่ที่การค้า เมืองเกิดบนเส้นทางการค้า ถ้าไม่มีก็ไม่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจมาสร้างเมือง

“ความมหัศจรรย์ของกำแพงเพชรคือศิลาแลง ตั้งแต่ชื่อกำแพงเพชร สื่อถึงการมีกำแพงมั่นคงแข็งแรง ใต้พื้นดินของกำแพงเพชร เต็มไปด้วยศิลาแลง ในวัดเกือบทุกแห่งมีเนินศิลาแลงและบ่อขุดศิลาแลงที่ถูกจุดเพื่อสร้างวัดซึ่งไม่ได้เสร็จใน 1-2 ปี แต่ยืดเยื้อยาวนาน” นายสุจิตต์ กล่าวและว่า กำแพงเพชรยังมีนิทานสำคัญคือ ‘ท้าวแสนปม’ ซึ่งทางการควรยกย่องเป็นจุดขายเพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต รัชกาลที่ 6 ยังทรงให้ความสำคัญ โดยมีราชนิพนธ์ เรื่องท้าวแสนปมมาแล้ว

แม่น้ำปิงจุดที่ขรรค์ชัย-สุจิตต์เคยลงอาบน้ำขณะสำรวจเมืองโบราณกำแพงเพชรครั้งเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

นายสุจิตต์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันที่เรียกกำแพงเพชรว่า เมือง ‘ชากังราว’ นั้น นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร เคยเปิดเผยหลักฐานว่า แท้จริงแล้วชากังราวตั้งอยู่ในลุ่มน้ำน่าน ไม่ใช่น้ำปิง ดังนั้นย่อมไม่ใช่เมืองกำแพงเพชร แต่เชื่อว่าคือเมืองพิชัย จ.อุตรดิตถ์

ทั้งนี้ เทปรายการดังกล่าวในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม เวลา 14.00 น. รับชมได้ผ่านเฟซบุ๊ก มติชน    ออนไลน์ ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image