‘ศรีศักร’ สำรวจชัยภูมิ เผย พบครั้งแรกภาชนะดินเผาแบบใหม่ 2,500 ปี ‘กรมศิลป์’ รุดลงพื้นที่ เล็งขุดค้น

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์ พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยถึงการสำรวจพบภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูณ อำเภอคอนสาร​ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์

ศาสตราจารย์ พิเศษ ศรีศักร กล่าวว่า ตนและคณะทำงานของวารสารเมืองโบราณ เดินทางเข้าสำรวจทางภาคอีสานของไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นปกติอยู่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูณ อำเภอคอนสาร​ จังหวัดชัยภูมิ พบเศษภาชนะดินเผาซึ่งมีรูปแบบและลวดลายที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงรู้สึกดีใจมาก ลักษณะเป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง แต่ไม่ถึงขั้น ‘สโตนแวร์’ มีกรรมวิธีการทำด้วยการขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุน ใช้เทคนิคการตกแต่งด้วยวิธีการทาน้ำดินสีแดง ขัดมัน แล้วเขียนลวดลายลงไปด้วยพู่กัน อาทิ ลายรูปไก่ ดอกไม้ เรขาคณิต ตารางสี่เหลี่ยม เป็นต้น

ส่วนตัวคิดว่าเป็นการค้นพบที่มีความหมายมาก เพราะแถบนี้เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีอายุร่วมสมัยกับบ้านโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดี แต่สำหรับแหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูนแห่งนี้ มีรูปแบบที่แตกต่างออกไป ไม่เหมือนที่เคยพบในแหล่งโบราณคดีแห่งใดเลยในประเทศไทย

Advertisement

“บ้านโนนคูณเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานเดิม กรมศิลปากรทราบอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดี ล่าสุด เมื่อพวกผมได้พบเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้ก็ดีใจ เพราะมีลายเขียนสีที่ไม่เหมือนที่อื่นในประเทศไทย เช่น รูปไก่ รูปดอกไม้ ในแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน เนื้อภาชนะ เผาแกร่ง อายุราว 2,500 ปีลงมา คิดว่ากรมศิลป์ ควรลงมาทำการขุดค้นก่อนที่แหล่งจะถูกทำลายลงไป” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูน ยังมีการพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดอีกด้วย สำหรับการพบเศษภาชนะดินเผารูปแบบใหม่นี้ เป็นการพบจากบริเวณผิวดิน และชั้นดินที่เคยถูกตักไปทำการเกษตร

Advertisement

นางชุติมา จันทร์เทศ รักษาการณ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้นักโบราณคดีได้ลงพื้นที่ไปสำรวจแล้ว โดยพบเครื่องมือเครื่องใช้ เศษภาชนะดินเผา รวมถึงโครงกระดูกที่บรรจุในภาชนะด้วย เบื้องต้นจึงมีข้อสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งที่มีการ ‘ฝังศพครั้งที่ 2’ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว 2,000 กว่าปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา สำหรับสภาพปัจจุบันแหล่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นไร่อ้อย ชั้นดินจึงถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน จากนี้คาดว่าจะมีการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยในประเด็นของรูปแบบภาชนะดินเผาที่ศาสตราจารย์ พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดมกล่าวถึงนั้น ทางกรมศิลปากรจะศึกษาอย่างละเอียดต่อไป

“ตัวอย่างโบราณวัตถุจากการสำรวจผิวดินโดยนักโบราณคดี ได้พบภาชนะดินเผาเนื้อดินลวดลายต่างๆ เช่น ลายเชือกทาบ บางชี้มีลายเขียนสีอยู่ด้วย มีการเคลือบน้ำโคลนสีแดง พบโครงกระดูกในภาชนะ น่าจะมีอายุในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ร่วมร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาทที่โคราช แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะข้อมูลในขณะนี้เป็นเพียงการพิจารณาจากตัวอย่างโบราณวัตถุเพียงไม่กี่ชิ้น นอกจากนี้ จะมีการขุดกู้แหล่งโบราณคดีด้วย เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านซึ่งทำไร่อ้อยได้ขุดลงไปและนำโบราณวัตถุขึ้นมาแล้ว ต้องมีการสำรวจบริเวณโดยรอบซึ่งพื้นที่แหล่งนี้ค่อนข้างกว้างมาก” นางชุติมากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image