‘มหาเถรสมาคม’ เปิดทางตำรวจ พบพระ-เณร ขับรถผิดกฎหมาย จับได้ทันที

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน  นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาและความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน รวมถึงอาจจะทำให้สูญเสียทั้งในด้านชีวิต และทรัพย์สินอีกด้วย

ในที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้แจ้งไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของการตรวจตรา การขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ของพระภิกษุ-สามเณร ให้เหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยให้บังคับใช้กฎหมายให้เหมือนประชาชนทั่วไป

หลังจากนี้ เมื่อทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเจอพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปในทันที จะส่งผลให้มีความผิดทางวินัยเข้าขั้นอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นสงฆ์ ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ด้วย

“เมื่อมีมติออกมาแล้ว หากตำรวจพบเจอพระภิกษุ-สามเณรขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปในทันที ” นายณรงค์ กล่าวและว่า ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นจริงๆไม่ควรขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เพราะอาจส่งผลให้มีความผิดทางวินัย เข้าขั้นอาบัติปาราชิกได้อีกด้วย

Advertisement

ก่อนหน้านี้ พศ. มีหนังสือ ที่ พศ. 0006/03305 เมื่อ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาและความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน พศ.จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจตราการขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของพระภิกษุสามเณร เยี่ยงประชาชนทั่วไป

ด้านสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามมติของมหาเถรสมาคมและวัตถุประสงค์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงเห็นควรให้ดำเนินการ กรณีที่ตรวจพบพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นครั้งแรก ให้ตรวจสอบใบสุทธิ วัดที่สังกัด ใบอนุญาตขับรถแล้วถ่ายภาพและรายงาน ให้เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัดทราบ และ ในกรณีพบการกระทำผิดซ้ำอีก ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฏหมายได้ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ขอแจ้งไปถึงพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศด้วยว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ไม่ควรที่จะขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ นอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุขับไปชนคนเสียชีวิต จะส่งผลให้มีความผิดทางวินัยเข้าขั้นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นสงฆ์ ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image