คลับเฮาส์ทับหลังไฟลุก! ‘ช่อ’ ซัด วธ.จัดงบทวงคืนแค่แสนเดียว แค่หาข้อมูลก็หมดแล้ว

คลับเฮาส์ทับหลังไฟลุก! ‘ช่อ’ ซัด วธ.จัดงบทวงคืนแค่แสนเดียว แค่หาข้อมูลก็หมดแล้ว

สืบเนื่องจากกรณีที่ทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้นเดินทางกลับถึงประเทศไทย วันที่ 31 พฤษภาคม กลุ่มพลังคลับ จัดการเสวนาใน Club House เพื่อพูดคุยถึงเบื้องลึกเส้นทางการทวงคืนโบราณวัตถุไทยในอเมริกา ประวัติศาสตร์การล่าของเก่าในยุคสงครามเย็น และการตั้งคำถามถึงคุณค่าของโบราณคดีว่ายังมีที่ยืนอยู่หรือไม่ หากไม่ใช่เครื่องปลูกฝังค่านิยมสร้างชาติอีกต่อไป

ในตอนหนึ่งนางสาวพรรณิการ์ วานิช กล่าวว่า ความตั้งใจของหน่วยงานรัฐที่จะให้ความสำคัญกับอะไรสักอย่างดูได้จากการตั้งงบประมาณ หรือการบริหารงบประมาณแผ่นดิน เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คุณจัดสรรมันอย่างไรกับภาษีของประชาชน ในประเด็นนี้การทวงคืนโบราณวัตถุนี้เราคงต้องดูกันที่กระทรวงวัฒนธรรม และพบว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้รับการจัดสรรงบในปี 2565 ทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท ถ้าย่อยลงมาอีกคือ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ได้ไป 2,500 ล้านบาท ขณะที่คณะทำงานของอาจารย์ทนงศักดิ์ ที่มีทำงานในด้านการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศได้ไปเพียงแค่ 100,000 บาทเท่านั้น

“เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นงบแล้ว เราไม่ทราบเลยว่าควรจะดีใจหรือเสียใจ เราไม่รู้เลยว่า เขาเห็นคณะทำงานของอาจารย์ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ มีตัวตนหรือเปล่า งบจำนวนเท่านี้เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงประชุม หรือเดินทางในประเทศเพื่อหาข้อมูลก็น่าจะหมดแล้ว ไม่น่าเพียงพอต่อการติดตามในต่างประเทศ” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

นางสาวพรรณิการ์กล่าวอีกว่า มันเป็นผลพวงมากจากระบบราชการแบบไทยๆ ซึ่งเราไม่ได้อยากจะยอมรับ แต่ว่ามันทุเรศเกินไปหรือเปล่าที่จัดสรรงบให้เพียงเท่านี้ และเมื่อเราลองมองพันธกิจของกระทรวงวัฒนธรรมที่ระบุว่า “วัฒนธรรมสร้างคนดี สร้างสังคมดี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” มันสะท้อนว่า ชนชั้นนำไทยตีความคุณค่าชาตินิยมในสิ่งที่เขาคิดว่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรมเท่านั้น

Advertisement

หรือแม้แต่การจัดสรรงบประมาณสำหรับการให้ความรู้ ด้านการดูแลโบราณสถานทั่วประเทศ เพียง 700,000 บาทเท่านั้น นี่คืองบประมาณของรัฐบาลไทยซึ่งมันอาจจะไม่เพียงพอต่อการดูแลโบราณสถานทั่วประเทศ ทั้งนี้ประเทศของเรามีความเป็นชาตินิยมสูงมาก แต่ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงไม่ใช้ความเป็นชาตินิยมในการทวงคืนโบราณสถานอันเป็นของเรา

ในประเด็นของการจัดการทางภาครัฐ นางสาวพรรณิการ์กล่าวว่า กรมศิลปากรถูกผลิตขึ้นมาเป็นสถาบันสร้างช่าง มันสะท้อนให้เห็นว่าประเทศเรายังตกอยู่ในแนวคิดอาณานิคมภายใน และยังไม่ได้ปลดปล่อยออกมา มันทำให้เราไม่มีระบบการคิดค้นโบราณคดีในลักษณะที่ตื่นตัวมากกว่านี้ อย่างเช่นประเทศที่อดีตเคยตกเป็นอาณานิคมเขาทำกัน

โบราณคดีถูกสร้างขึ้นมาใต้หลักคิดที่ว่า บุคคลที่มีองค์ความรู้ในทางประวัติศาสตร์ หรือมานุษยวิทยาเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของโบราณวัตถุ ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้อะไรเลย จึงไม่คู่ควรการเป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ และมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรม คอยชื่นชมคุณค่าโบราณคดี และมีหน้าที่เอามันมาไว้ที่กรุงเทพมหานคร คอยจัดเก็บรักษาให้มันอยู่ในสภาพที่ดี ตรงจุดนี้มันสะท้อนว่า แนวคิดของชนชั้นนำไทยไม่ได้มีไอเดียที่ผูกโยงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของประขาชนจริงๆ มันมีการทำงานแบบช่าง ที่ทำนุบำรุงของที่เอามา โดยไม่ได้พยายามเชื่อมโยงโบราณคดีกับประชาชน

Advertisement

นางสาวพรรณิการ์กล่าวเสริมว่า นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้สอนเรื่องี้ในโรงเรียนอย่างจริงจัง เราไม่ได้ทำให้เด็กไทยรู้สึกว่าต้องหวงแหนสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่มันคือสมบัติของมนุษยชาติ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเรา เราควรที่จะเอามันออกมาจากพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวในบ้าน เพื่อให้มวลมนุษยชาติมีสิทธิเรียนรู้มรดกชิ้นนั้นๆ ที่เผอิญอยู่ในประเทศเรา

“เมื่อประชาชนไม่เคยถูกอบรมมาในระบบการศึกษาแบบนี้ ภาคประชาชนจึงไม่ได้มีพลังใหญ่โตในการหาทางออก แม้เราจะคาดหวังจากภาครัฐ แต่มันยาก มันจึงต้องเริ่มที่ภาคประชาชนที่จะต้องเรียกร้องให้เกิดการทำอะไรที่ตื่นตัว ช่อคิดว่าเรื่องนี้มันไปได้ไกล ทำให้คนไทยรู้สึกร่วมกันว่ามันเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญ” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

นางสาวพรรณิการ์กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการจัดพิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยว่า พิพิธภัณฑ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องใหญ่ อาจจะเจาะเฉพาะเรื่อง และคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ชนชาติที่เขาใส่ใจในประวัติศาสตร์จริงๆ จะทำมัน ประเทศที่รู้คุณค่าในประวัติศาสตร์จะทำให้ประวัติศาสตร์สนุก และเข้าใกล้ตัวตน นอกจากนี้ยังต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกเป็นเพื่อนกับคน คนที่เข้าไปชมต้องไม่รู้สึกว่า เป็นการเดินเข้าไปดูตู้เก็บของ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เราสามารถเชื่อมตัวเรากับพิพิธภัณฑ์นั้นๆ มีการสร้างเรื่องราวที่เป็นมิตรกับคน ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

“เราต้องให้หน่วยงานท้องถิ่นในการสร้างพิพิธภัณฑ์ของตนเอง เพราะเขาเหล่านั้นเป็นเจ้าของ เขาย่อมเข้าใจในโบราณวัตถุในท้องถิ่นนั้นๆ หลายครั้งที่เราเห็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างโดยกรมศิลปากร หรือหน่วยงานส่วนกลางมันพังมาก ดังนั้นเราต้องมีผลักดันให้สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มาจากหน่วยงานท้องที่ เพราะเขาเข้าใจมากกว่าหน่วยงานส่วนกลาง” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image