‘อิทธิพล’ มั่นใจ น้ำไม่ท่วมโบราณสถานอยุธยา กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง

‘อิทธิพล’ มั่นใจ น้ำไม่เข้าท่วมโบราณสถานอยุธยา กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัด วธ.ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมศิลปากร และคณะ ตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่3 พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมชลประทาน ได้มาดูความพร้อมการเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นมรดกโลกที่สำคัญ หลายปีที่ผ่านมามีการวัดระดับน้ำเพื่อเฝ้าระวัง และได้จัดสร้างพนังกั้นน้ำซึ่งสามารถพับเก็บได้ในสถานการณ์ปกติ มีความสูง 1.70 เมตร ยังสามารถรองรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ได้ และคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะไม่สูงกว่าพนังกั้นน้ำที่ได้ติดตั้งไว้

นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า สถานการณ์ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม เป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด ซึ่งต้องเฝ้าระวัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยยังไม่มีการรายงานความเสียหายในส่วนของโบราณสถาน ทั้งนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานที่อยู่บริเวณเกาะเมืองกว่า 170 แห่ง รอบเกาะเมืองอีกกว่า 350 แห่ง ทั้งหมดเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ และเป็นเรื่องดีที่ชุมชนโดยรอบจะรู้ระดับน้ำ และการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเตรียมพร้อม ขณะที่กรมศิลปากร เตรียมพร้อมเรื่องงบประมาณ กรณีที่ต้องมีการซ่อมแซม หรือเพิ่มจุดพนังกั้นน้ำ ก็มีงบเพียงพอดำเนินการได้ทันที รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงมอบหมายให้ทุกกระทรวงลงไปดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเยี่ยมประชาชน และให้ความช่วยเหลือ

“ขอให้มั่นใจว่า โบราณสถานที่ จ.พระนครศรีอยุทธยา และทุกๆ แหล่งที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา จะมีการดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง หรือน้ำเข้าท่วมพื้นที่โบราณสถาน ส่วนวัดต่าง ๆ แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากร ก็พร้อมเข้าไปตรวจสอบ ดูแลเรื่องความมั่นคงแข็งแรงต่อไป” นายอิทธิพล กล่าว

Advertisement

สำหรับข้อมูลการป้องกันโบราณสถานที่สำคัญใน จ.ดพระนครศรีอยุธยา อาทิ วัดไชยวัฒนาราม ใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่สามารถยกตั้งขึ้น และพับเก็บได้บริเวณด้านตะวันออกของวัดริมแม่น้ำ แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาว 160 เมตร สูงจากผิวบนสุดของขอบตลิ่ง 1.80 เมตร และสามารถต่อความสูง เพิ่มเติมเป็น 2.80 เมตร ส่วนด้านใต้ ด้านตะวันตก มีแนวกำแพงป้องกันน้ำถาวรก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนด้านเหนือใช้แนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3469 เป็นแนวป้องกัน

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่สามารถยกตั้งขึ้น และพับเก็บได้ ป้องกันรอบเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาสของวัด แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาวประมาณ 308 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 1.70 เมตร และวัดธรรมมาราม ใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่สามารถยกตั้งขึ้น และพับเก็บได้ป้องกันบริเวณด้านตะวันออกของวัด ริมแม่น้ำ แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาวประมาณ 130 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 1.70 เมตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image