วธ.สืบสานงานศิลป์  ‘หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ’ สร้างรายได้ชุมชน

นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) จัดสรรงบประมาณอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี 2565 ในโครงการศิลป์สร้างสรรค์ สืบสาน พัฒนาต่อยอด หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ บ้านธิ ลำพูน โดยดำเนินการ ร่วมกับคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้ออันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นภาคเหนือของประเทศไทย ตามบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทลื้อบ้านธิ ในวิถีปัจจุบัน นอกจากนี้ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ของผ้าทออันโดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตัวที่งดงาม มีคุณค่า ผ่านการสร้างสรรค์ เป็นตัวละครหุ่นร่วมสมัยต้นแบบ หุ่นมือผ้าทอไทลื้อ ที่สร้างขึ้นด้วยการออกแบบ สร้างรูปแบบของตัวหุ่นจากเรื่องราวตำนาน เรื่องเล่าจากชุมชน บรรพบุรุษคนไทลื้อจากสิบสองปันนาอพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านธิปัจจุบัน ซึ่งตัวละครหุ่นผ้าทอไทลื้อ จะมีการพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ ให้นำไปจัดแสดงละครหุ่นมือไทลื้อโดยกลุ่มเยาวชนไทลื้อรุ่นใหม่ จำนวน 9 ตัวละคร 1 ชุดการแสดงหุ่นมือผ้าทอไทลื้อ และต้นแบบตุ๊กตาหุ่นมือผ้าทอไทลื้อ จำนวน 10 ต้นแบบ

นางเกษร กล่าวอีกว่า การดำเนินงานดังกล่าว สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน วัด บ้าน โรงเรียนเป็นหลัก ร่วมกับชมรมสืบฮีตสานฮอยวัฒนธรรมบ้านธิ พิพิธภัณฑ์บ้านไทลื้อบ้านธิ สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดลำพูน เทศบาลตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ เครือข่ายศิลปินล้านนา จากรากฐานสู่ร่วมสมัย ซึ่งโครงการนี้ ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะด้วย ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง มีบทบาทในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมและสามารถสื่อสารให้ผู้ที่มาเยือนได้ชื่นชมและเรียนรู้เอกลักษณ์ความงดงามทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตชาวไทลื้อ เคารพในวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน และก่อเกิดมิตรภาพ ความรู้ ความเข้าใจ และความซาบซึ้งในวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อ ขณะที่ศิลปะหุ่นมือไทลื้อ ทำหน้าที่เสมือนภาพจำลองชนบทและสังคมที่ดี ของชุมชน ทำให้เยาวชน ผู้ชมทั้งไทยและ ต่างประเทศ ได้ใช้เรียนรู้บริบททางสังคมของกลุ่มชนชาติพันธุ์ในประเทศไทย รวมถึงด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

น.ส.น้ำฝน อุ่นฤทธิ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ผลผลิตของโครงการนี้ เป็นการสร้างสรรค์ สืบสาน และพัฒนาต่อยอด จากรากแห่งวัฒนธรรมไทลื้อดั้งเดิม สู่ความเป็นร่วมสมัยในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทำให้เยาวชนได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง มีบทบาทในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม สามารถสื่อสารให้ผู้ที่มาเยือนได้ชื่นชมและเรียนรู้เอกลักษณ์ความงดงามทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตชาวไทลื้อ ผ่านหุ่นมือผ้าทอไทลื้อ รวมทั้งเกิดแหล่งเรียนรู้เชิงศิลปะและวัฒนธรรมไทลื้อสู่สาธารณชน นอกจากนี้ ยังพัฒนาสู่การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ของชุมชนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการจัดทำหุ่นมือผ้าทอเป็นของที่ระลึกของชุมชน จำหน่ายเป็นของที่ระลึกจากชุมชนทั้งออนไซต์ และออนไลน์ด้วย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image