มุมมองนักวิชาการ ‘สื่อ’ กรณี ‘หลวงปู่’

มุมมองนักวิชาการ ‘สื่อ’ กรณี ‘หลวงปู่’

นับเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันในหลากมุมมอง กรณี หมอปลา บุกจับผิด หลวงปู่แสง ก่อนโดนกระแสตีกลับหลายตลบจากข้อเท็จจริงเรื่องการอาพาธ จับโป๊ะนักข่าวสาวช่องหนึ่งซึ่งชาวเน็ตตาดีตั้งคำถามว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับสตรีผู้ปรากฏในคลิปที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการจับเนื้อต้องตัวหรือไม่ จนสุดท้ายต้องออกมายอมรับ โหมอุณหภูมิร้อนในหมู่พุทธศาสนิกชนจากประเด็นก่อนหน้าซึ่งสูงปรี๊ดอยู่แล้วจากกิริยาท่าทางและคำถามแนวเสียดสีมากกว่าต้องการคำตอบ

เมื่อผนวกกัน 2 ระลอก จากเดิมที่ต้นสังกัดเพียงสั่งพักงาน 7 วัน แล้วขยับเป็น ไม่มีกำหนดจึงนำมาสู่ประกาศให้พ้นสภาพพนักงาน พูดง่ายๆ คือ ไล่ออก พร้อมร่ายยาวถึงความผิด 3 ข้อ ไม่เพียงเท่านั้น สื่อต่างๆ ที่นักข่าวในสังกัดตัวเองไปเกี่ยวข้อง ก็พากันตบเท้าออกแถลงการณ์แสดงความรับผิดชอบ ความรุนแรงลดหลั่น บ้างก็พักงาน บ้างก็ถูกตั้งกรรมการสอบ

หันไปดูกระแสสังคม หากวัดเฉพาะในโลกออนไลน์ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นไปในทิศทางเห็นพ้องกับการลงทัณฑ์บรรดานักข่าวภาคสนาม อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนรุ่นใหญ่หลายรายทยอยออกมาสะกิดถามว่าเหตุใดปมความผิดจึงถูกเพ่งโทษไปที่ตัวบุคคลคือนักข่าวเพียงเท่านั้น

ประเด็นนี้ รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นโดยชวนมองในมุมกว้างไกลไปกว่านั้น นั่นคือการถามย้อนกลับไปที่องค์กรสื่อระดับใหญ่ทั้งหลายซึ่งมีลำดับของสายงาน ตั้งแต่หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ ว่าทำไมปล่อยให้นำเสนอข่าวที่นักข่าวไปทำข่าวตามใบสั่งของบุคคลอื่นที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

Advertisement

เท่าที่ติดตามข่าวก็ยังดีที่องค์กรสื่อมีการสั่งพักงาน ไล่ออก ความจริงขณะนี้ทุกสื่อมีสถานะไส้เน่าหมดแล้ว ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ เพราะนอกจากบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ที่ควรแสดงความรับผิดชอบแล้วผู้ดำเนินรายการข่าวคนดังๆ ทั้งหลายควรแสดงความรับผิดชอบด้วยไหม ที่ทั้งโหน ทั้งแซะ ให้ราคากับหมอผี เชิญมาเป็นแหล่งข่าวจนกลายเป็นซุปตาร์คนสำคัญ เหตุการณ์นี้สะท้อนความต้องการปฏิรูปองค์กรสื่อมวลชนที่พูดกันมานานกว่า 10-20 ปีว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงที่สำคัญคือ องค์กรหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อสารมวลชนทำอะไรกันบ้าง หรือแม้แต่องค์กรและหน่วยงานของรัฐ อย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีหน้าที่ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง รวมทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำไมปล่อยให้บุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกระทำการจัดฉากทำลายพระสงฆ์เช่นนี้ รศ.สดศรีกล่าว

ด้าน ผศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองสอดคล้องกันกล่าวคือ เหตุการณ์นี้ นักข่าวผิดจริงอย่างชัดเจน แต่เมื่อได้อ่านถ้อยแถลงเป็นข้อๆ ของต้นสังกัดก็ต้องตั้งคำถามแรกว่า บรรณาธิการอยู่ไหน เพราะวัฒนธรรมการทำข่าวของสื่อวิชาชีพโดยเฉพาะในสื่อดั้งเดิม ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ กระบวนการก่อนที่ข่าวจะถูกเผยแพร่ถูกทำงานโดยกองบรรณาธิการ ต้องขอเน้นย้ำว่าผู้มีอำนาจสูงสุดและต้องรับผิดชอบสูงสุดคือ บรรณาธิการ ต่างจากสำนักข่าวออนไลน์มีวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง

เรื่องกิริยาไม่เหมาะสม เป็นพฤติกรรมส่วนตัวกองบรรณาธิการอาจไม่ล่วงรู้จนกว่าจะมีเรื่องเยอะจนมาถึงหู แต่การแสดงความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่สื่อมวลชนนั้น ต่อให้คุณมีความไม่เป็นกลางอย่างไร แต่โดยกระบวนการของกองบรรณาธิการจะมีหลักการของมันอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ากองบรรณาธิการทำงานตามบทบาทหน้าที่อย่างมืออาชีพจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ หากมีความไม่เป็นกลาง จะไม่ได้เกิดจากนักข่าว แต่เกิดจากความไม่เป็นกลางของกองบรรณาธิการ เพราะข่าวต้องถูกส่งไปกองบรรณาธิการ มีกระบวนการตรวจสอบสคริปต์ ตัดต่อ ก่อนเผยแพร่ กองบรรณาธิการต้องสอบทาน ตั้งคำถาม ตรวจสอบทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นจะมีกองบรรณาธิการไว้ทำไม สำหรับการไล่ออก ถามว่ากองบรรณาธิการ และบรรณาธิการไม่รับผิดชอบด้วยหรือ อาจารย์วารสารศาสตร์ผู้เป็นอดีตนักข่าวในสื่อหลักอธิบาย พร้อมย้ำว่า นักข่าวต้องรับผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่องค์กร และกองบรรณาธิการ โดยเฉพาะบรรณาธิการต้องรับผิดชอบร่วมด้วย

Advertisement

ไม่ใช่คิดว่านักข่าวพ้นสภาพแล้วเรื่องนี้จะยุติ

เมื่อสอบถามถึงการแข่งขันที่สูงมากของสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลัก ทีวีดิจิทัล สำนักข่าวออนไลน์ จนถึงเพจข่าวต่างๆ ว่ามีผลหรือไม่ ต่อความผิดพลาดครั้งนี้ ความไว คอนเทนต์ เอนเกจเมนต์และความพยายามสร้างตัวตนของนักข่าวในยุคโซเชียล มีเอี่ยวหรือไม่ อย่างไร ผศ.วิไลวรรณ หยุดคิด ก่อนตอบว่า ไม่อยากจะพูดว่ามันมีการแข่งขันสูงมาก มีโครงสร้าง แรงจูงใจหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้นักข่าวต้องสร้างผลงานถึงขนาดสร้างข่าวขึ้นมาซึ่งผิดทั้งจรรยาบรรณและกฎหมาย ภาษาโบราณ คือ เต้าข่าว ทั้งที่นักข่าวมีหน้าที่รายงานข่าวในเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง แต่กลับทำในสิ่งที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเลย ดังนั้น องค์กรวิชาชีพต้องกลับมามองตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับวงการสื่อไทย โดยเฉพาะตั้งแต่มีทีวีดิจิทัลใน พ.ศ.2558

ระบบนิเวศสื่อบิดเบี้ยว ผิดปกติถึงขั้นวิกฤตแล้ว แต่เราเห็นเพียงการออกแถลงการณ์ ไม่เห็นอย่างอื่นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา องค์กรวิชาชีพสื่อ ควรแอ๊กชั่นแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้หรือไม่ ควรมีการตั้งคำถาม เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมตอนนี้ นักข่าวถึงขั้นต้องทำข่าวเรียลิตี้ สร้างหลักฐาน เรียกเรตติ้ง อาจารย์วารสารศาสตร์กล่าว

นี่คืออีกหนึ่งบทเรียนของวงการสื่อไทยในวันนี้ ต่อการทำงานในวันพรุ่งนี้ที่สังคมยังจับจ้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image